22/12/2024

เชียงใหม่-แถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ไผ่ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG

S__101081386_0

งานแถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ไผ่ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bamboo to BCG Model)ภายใต้โครงการยกระดับฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ล้านนาสู่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Creative LANNA Forward)ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือสร้างมูลค่างานไผ่
เปิดกรอบแนวคิดแบบ BIG BAM

 

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) อำเภอเมืองเชียงใหม่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 โดย ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ไผ่ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bamboo to BCG Model)ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ล้านนาสู่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Creative LANNA Forward) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไผ่ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ไผ่ด้วยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ

นายสิทธิรงณ์ เร่งเงียบ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ได้กล่าวถึงประเด็นการส่งเสริมและผลักดัน ไผ่ ซึ่งถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ในภาคเกษตรกรรมที่รัฐบาลให้การสนับสนุน เป็นพืชที่สามารถแปรรูปได้หลากหลาย ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ของที่ระลึก งานหัตถกรรมจักสาน งานด้านสถาปัตยกรรม  นอกจากนี้ยังมีศักยภาพในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไซน์ออกไซด์สูง ซึ่งสามารถแก้ไขสภาพปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งประสบปัญหา PM 2.5 จากการเผาเศษวัชพืชและวัสดุทางการเกษตรส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เห็นถึงสภาพปัญหาและโอกาสในการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมไผ่ภาคเหนือ จึงมีแนวคิดในการส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาอุตสาหกรรมไผ่ในเชิงสร้างสรรค์บนพื้นฐานของการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อรังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Eco-design & Zero-Waste) ส่งเสริมการใช้ซ้ำ (Reuse) และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle)

โดยได้จัดทำกิจกรรม“พัฒนาผลิตภัณฑ์ไผ่ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bamboo to BCG Model)” ภายใต้โครงการยกระดับฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ล้านนาสู่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Creative LANNA Forward) ซึ่งนอกจากจะเป็นแนวทางในการพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไผ่แล้วยังมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๑ และกระจายความเจริญสู่พื้นที่โดยรอบ อันเป็นสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภูมิภาค (Local Economy)  ได้อย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.เอกชัย มหาเอก  รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต ภูมิปัญญาล้านนา ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมล้านนาร่วมสมัย เพื่อสังคมที่สร้างสรรค์และยั่งยืน ดังวิสัยทัศน์ในการเป็น มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม” ด้วยการเป็นหนึ่งกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC – Creative LANNA) โดยมีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่บ่มเพาะและต่อยอดภูมิปัญญาล้านนา ให้เกิดมิติเชิงทดลองอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่งานนวัตกรรมมิติใหม่ ผ่านทรัพยากรในท้องถิ่นและศาสตร์แห่งการออกแบบที่ผสานจิตวิญญาณสร้างสรรค์แห่งภูมิปัญญาล้านนา เพื่อขับเคลื่อนท้องถิ่นสู่ความเป็นสากล

 

ผศ.กานต์ คำแก้ว หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิชาการสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าโครงการกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ไผ่ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bamboo to BCG Model) ได้กล่าวเสริม ถึงกรอบแนวทางการดำเนินกิจกรรมและร่วมเชิญชวนวิสาหกิจชุมชน สมัครเข้าคัดเลือกร่วมโครงการ พร้อมทั้งกล่าวถึงความสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจBCG ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างมูลค่าเพิ่ม การใช้กรอบแนวคิดแบบ BIG BAM (Bio-Green Bamboo Activity Development Model) ซึ่งประกอบไปด้วย การสำรวจข้อมูล การใช้ Design Thinking การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด และการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา แนะนำ Design Thinking ซึ่งเป็นกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่เน้นการทำความเข้าใจผู้บริโภค เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด มีการจัดการพื้นที่ Marketing Sandbox and Exhibition เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ทดลองทำการตลาด โดยกระบวนการที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเราจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 8 เดือน

 

ซึ่งกิจกรรมในโครงการนี้ฯ จะมีการรับสมัครวิสาหกิจชุมชนที่มีผลิตภัณฑ์จากไผ่ ในพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง  ซึ่งรับสมัครระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2567 – 2 มกราคม 2568 จำนวน 20 วิสาหกิจ ซึ่งวิสาหกิจชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมกิจกรรมให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไผ่ ที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละกลุ่ม ฟรีตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ

และภายในงานวันนี้ (20 ธันวาคม 2567) มีกิจกรรม Workshop “งานจักสานจากไผ่” เวทีเสวนา  และนิทรรศการไผ่ไทยคราฟต์ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป