25/12/2024

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ ลงพื้นที่ภาคใต้ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม-ช่วยเหลือประชาชน ย้ำทุกหน่วยงานเร่งคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็วที่สุด เผย ‘นายกรัฐมนตรี’ ห่วงใยผู้ได้รับผลกระทบ

S__1376584_0

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ ลงพื้นที่ภาคใต้ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม-ช่วยเหลือประชาชน ย้ำทุกหน่วยงานเร่งคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็วที่สุด เผย ‘นายกรัฐมนตรี’ ห่วงใยผู้ได้รับผลกระทบ
– – – – – – –

วันที่ 6 ธันวาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางสาวธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย , ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) , พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) , นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่อุทกภัยภาคใต้ ณ จังหวัดยะลา โดยได้รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัย และแผนการแก้ไขปัญหาพร้อมกล่าวมอบนโยบาย ณ อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมืองยะลา ก่อนเดินทางต่อไปยังอาคารศรีนิบง ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา อำเภอเมืองยะลา เพื่อพบปะประชาชนและมอบถุงยังชีพให้ผู้แทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ


.
นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เกิดอุทกภัยขึ้นในหลายแห่งของพื้นที่ภาคใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำจะเคลื่อนผ่านอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีความเสี่ยงฝนตกหนักและฝนตกหนักมากบางแห่ง รัฐบาลโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จึงได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือดูแลประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อคลี่คลายโดยเร็วที่สุด


.
นายประเสริฐ กล่าวว่า วันนี้ได้เน้นย้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมสรรพกำลังเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างต่อเนื่องเพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมอบจังหวัด ศอ.บต. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย และจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ให้พร้อมต่อสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น และมอบ สทนช. ประสานกรมชลประทาน จังหวัด ปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย เพื่อแก้ไขสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมกันนี้ สทนช. จังหวัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ต้องประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 และป้องกันสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนบางลาง และการจัดการน้ำในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่เปราะบาง และเมื่อมีผลกระทบกับประชาชน ต้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด


.
“นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำกับ สทนช. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมประชาสัมพันธ์ และจังหวัด ประชาสัมพันธ์สถานการณ์อุทกภัยและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ พร้อมมอบหมายศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ประสานและบูรณาการการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อสถานการณ์น้ำ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก และจะดูแลให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังเพื่อทุกครัวเรือนผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว

 
.
ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ รวม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช 7 อำเภอ จังหวัดพัทลุง 5 อำเภอ จังหวัดสงขลา 4 อำเภอ จังหวัดปัตตานี 4 อำเภอ จังหวัดนราธิวาส 3 อำเภอ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน โดยเฉพาะในระยะนี้ที่ปริมาณฝนจะลดลง รวมทั้งได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในช่วงหลังจากนี้ตามที่รองนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. คาดการณ์ว่าจะกลับมามีฝนตกหนักถึงหนักมากอีกครั้งในช่วงวันที่ 13 – 16 ธ.ค. 67 บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จากนั้นแนวโน้มฝนจะลดลงตามลำดับ สำหรับเขื่อนบางลางจะยังคงอัตราการระบายน้ำที่ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ต่อวัน ซึ่งจะต้องมีการติดตามประเมินสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับแผนการระบายให้เหมาะสม โดยจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับระดับน้ำทะเลด้วย

 
.
โดยขณะนี้การระบายน้ำของเขื่อนบางลางยังไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำบริเวณหน้าเขื่อนปัตตานี โดยเขื่อนปัตตานีได้มีการหน่วงน้ำไว้ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. 67 ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนลดลงตามลำดับ โดยเฉพะเขตตัวเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว และในการบริหารจัดการน้ำ ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยของเขื่อนทุกแห่ง ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ส่วนหน้าจะบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ประกอบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่และระดมสรรพกำลังเพื่อเร่งคลี่คลายสถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้โดยเร็วที่สุด

///////////////////////

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป