24/12/2024

กาฬสินธุ์-เปิดวาร์ป! ตัวเลขรายรับได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ไหมแพรวาทุบสถิติปีนี้ยอดพุ่ง 6,500 ล้านบาท!!!

1827237

ผลิตภัณฑ์ “ผ้าไหมแพรวา ราชินีแห่งไหม” ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ยังครองฮิตติดเทรนด์ จำหน่ายได้ทุกฤดูกาลตลอดปี ขณะที่พัฒนาการจังหวัดเผย รายได้จากการจำหน่ายในปี 2567 คาดทะลุ 6,500 ล้านบาท สูงกว่าปี 2566 ถึง 300 ล้านบาท ด้านนายก อบต.หนองช้าง “ต้นน้ำแพรวา ราชินีแห่งไหม” ระบุ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ปีละกว่า 10 ล้านบาท รายได้มวลรวมที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

 

วันที่ 5 ธันวาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา ที่ได้ชื่อว่า “ราชินีแห่งไหม” ใน จ.กาฬสินธุ์ พบว่ายังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย ถึงแม้จะมีราคาค่อนข้างสูง หากเทียบกับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยประเภทต่างๆ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาชาวผู้ไทย ใช้เวลาการผลิตที่ยาวนาน มีความประณีต สวยงาม ตามแบบฉบับการถักทอด้วยมือ

นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า “ผ้าไหมแพรวา” ของ จ.กาฬสินธุ์ มีจุดกำเนิดจากภูมิปัญญาชาวผู้ไทย ชนพื้นเมืองที่อาศัยในพื้นที่ ต.โพน อ.คำม่วง โดยได้รับการสนับสนุนส่งเสริม เข้ามาในโครงการศูนย์ศิลปาชีพ เมื่อปี 2521 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับโครงการส่งเสริมการทำผ้าไหมแพรวาบ้านโพน ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีการบริหารจัดการ ในรูปแบบสหกรณ์ จนเกิดเป็นพื้นที่ส่งเสริมอาชีพ สามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มผู้ประกอบการถึงปัจจุบัน

นายอุทัยกล่าวอีกว่า ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา นอกจากจะแปรรูปเป็นเสื้อผ้า สำหรับสวมใส่ และสินค้าต่างๆ ประดับเรือนกาย และเพื่อจำหน่ายแล้ว ปัจจุบันยังมีการต่อยอด ขยายเครือข่ายในชุมชน ในสถานศึกษา มีการสาธิตกระบวนการผลิตผ้าไหมแบบโบราณ ซึ่งถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่การเลี้ยงไหม การสาวไหม การฟอก การย้อมสีธรรมชาติ จนถึงขั้นตอนในการทอผ้าด้วยมือหรืองานหัตถกรรม ที่มีลวดลายวิจิตรงดงาม ตลอดจนได้ศึกษาพัฒนากระบวนการใหม่ๆ เป็นการต่อยอดงานหัตถศิลป์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งในด้านความสวยงาม ความคงทน และคุณสมบัติอื่น ๆ เพื่อให้เป็นผ้าที่มีคุณภาพในระดับสากล

“สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ได้ให้การสนับสนุนต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา กระทั่งค้นพบว่า นอกจาก ต.โพน อ.คำม่วง จะเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมแพรวาแล้ว ต.หนองช้าง อ.สามชัย ก็ยังได้ชื่อว่าเป็น “ต้นน้ำแพรวา ราชินีแห่งไหม” อีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็น “ชาติพันธุ์ผู้ไทย” กลุ่มเดียวกัน ก่อนที่จะมีการย้ายถิ่นฐานตั้งรกรากใหม่ ไปที่บ้านโพน อ.คำม่วง และบ้านหนองแก่นทราย ต.หนองช้าง อ.สามชัย เมื่อประมาณ 160 ปีที่ผ่านมา โดยในส่วนกลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมแพรวา ได้มีการคิดค้นลายผ้าไหมแพรวาประยุกต์ ให้สอดคล้องกับยุคสมัย เพิ่มเติมอีกหลายสิบลาย ในขณะที่ทางจังหวัดและสำนักงานพัฒนาชุมชน ก็ได้มีการจัดงานเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ เพิ่มช่องทางการตลาด อย่างต่อเนื่องและเป็นงานประจำปี เช่น มหกรรมโปงลาง แพรวา และงานกาชาด, งานมหกรรมวิจิตรแพรวา ราชินีแห่งไหม, การประกวดสุดยอดผ้าไทย, งานพราวพัสตรา ผืนผ้าแห่งแผ่นดิน เป็นต้น โดยในปี 2566 มียอดสรุปรายได้ จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาถึง 6,200 ล้านบาท ขณะที่ปี 2567 คาดว่าจะได้ยอดจำหน่ายประมาณ 6,500 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้ว 300 ล้านบาท” นายอุทัยกล่าว

ด้านนายพงศ์ภรณ์ ภาระขันธ์ นายก อบต.หนองช้าง กล่าวว่า ในส่วนการส่งเสริมผู้ประกอบการผ้าไหมแพรวา ใน ต.หนองช้าง นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนแล้ว ยังได้รับการหนุนเสริมด้วยพลังบวร “บ้าน วัด โรงเรียน” ทั้งกระบวนการผลิต เพิ่มช่องทางการจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้ตลอดปี มีการจัดงาน จัดนิทรรศการ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา ทั้งที่เป็นผืนผ้า ตัดเย็บเป็นชุดเสื้อผ้าสำเร็จรูป และกระเป๋า ทั้งในงานระดับพื้นที่ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับภูมิภาค ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้ในภาพรวมปีละประมาณ 10 ล้านบาท หรือรายได้มวลรวมที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาททีเดียว

“อย่างการจัดงานประเพณีลอยกระทงผ้าไหมผู้ไทยหนองช้างเมือกลางเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา 3 วัน 3 คืน โดยมีการออกร้านจำหน่ายผ้าไหมผู้ไทยกว่า 20 ลาย ขณะที่ในส่วนผู้ร่วมงานก็รณรงค์สวมใส่ผ้าไหมแพรวา แสดงอัตลักษณ์ของชุมชนที่โดดเด่นด้านผู้นำแห่งผ้าไหมแพรวา มีกิจกรรมเดินแฟชั่นโชว์ผ้าไหมผู้ไทยหนองช้าง การประกวดหนูน้อยนพมาศ เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ให้พี่น้องประชาชน ทุกเพศ ทุกวัย มีส่วนร่วมในกิจกรรม ปลูกจิตสำนึกเยาวชนอนุรักษ์ ต่อยอดผ้าไหมแพรวา ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมผู้ไทยหนองช้างทุกประเภท ที่บรรพบุรุษรังสรรค์ด้วยภูมิปัญญาให้คงอยู่สืบไป นอกจากนี้ยังเป็นการส่งแสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนกลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมแพรวาตลอดปี” นายพงศ์ภรณ์กล่าว

ด้านนางนุจจิรา สารจิตร นักวิชาการศึกษา อบต.หนองช้าง ในฐานะผู้ผลิตลายผ้าไหมผู้ไทยหนองช้าง กล่าวว่า กลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมผู้ไทยหนองช้าง สืบทอดภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษ เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ทำกันเองทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ คือปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมสีธรรมชาติ ถักทอด้วยมือ การคิดค้นลายผ้า การแปรรูป และจำหน่าย ซึ่งผ้าไหมผู้ไทยหนองช้าง มีความสวยงาม โดดเด่น มีจำนวน 21 ลาย เช่น ลายดอกผักแว่น ลายดอกนาคหัวซุมอุ้มพันมหาน้อย ลายขอเครืออุ้มยอดช่อฟ้า ลายดอกหงอนเงือก ลายดอกดาวไต่เครือ ลายดอกนาคหัวสร้อย ซึ่งผืนผ้าแต่ละผืนใช้เวลาทอตั้งแต่ 1-4 เดือน ความยากง่ายขึ้นอยู่กับลาย จำหน่ายขั้นต่ำผืนละ 3,000 บาทถึงผืนละ 100,000 บาท สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการปีละประมาณ 10 ล้านบาท รายได้มวลรวมที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

“อัตลักษณ์ของชุมชนบ้านหนองช้าง เป็นชุมชนชาวผู้ไทยที่มีวัฒนธรรม ประเพณีภาษา ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดดเด่น ในเรื่องการทอผ้าไหมแพรวา โดยเริ่มตั้งแต่ปลูกหม่อนที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต จนกลายเป็นผ้าแพรวาที่มี ความงดงาม จึงได้ชื่อว่าเป็น “ต้นน้ำแพรวา ราชินีแห่งไหม” อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทย การทอผ้าแพรวามีมาพร้อมกับวัฒนธรรมของชาวผู้ไทย โดยยังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ การแต่งกาย และการทอผ้าไหมแพรวา ที่มีภูมิปัญญาในการทอด้วยการเก็บลายจากการเก็บขิด และการจกที่มีลวดลายโดดเด่น นับเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง” นางนุจจิรากล่าว

ผ้าไหมแพรวา จึงเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทย ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ อ.สามชัย และ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ โดยผู้หญิงจะถูกฝึกทอผ้ามาตั้งแต่อายุ 9 – 15 ปี ประกอบกับการเลือกใช้เส้นไหมน้อยหรือไหมยอด ที่มีความมันวาว และมีจุดเด่นเป็นสีเหลืองดุจทอง คุณสมบัตินุ่มนวล เหนียว พร้อมกับขนาดของเส้นไหมสม่ำเสมอกัน ผ้าไหมแพรวาจึงถือว่าเป็นของล้ำค่า ที่ได้รับความนิยมโด่งดังไปทั่วโลก และมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวผู้ไทยอย่างแท้จริง รวมทั้งยังสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ มีรายได้จากการจำหน่ายได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป