15/11/2024

รอง นรม. / รมว.กห. ลงพื้นที่ฐานปฏิบัติการเกาะกูด ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพล พร้อมสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ และดูแลความเป็นอยู่ ยืนยันพื้นที่เกาะกูดเป็นของไทย 100%

รอง นรม. / รมว.กห. ลงพื้นที่ฐานปฏิบัติการเกาะกูด ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพล พร้อมสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ และดูแลความเป็นอยู่ ยืนยันพื้นที่เกาะกูดเป็นของไทย 100%

 


พลตรีธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
(รอง นรม. / รมว.กห.) พร้อมด้วย พลเอกสนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม และพลเอกไตรศักดิ์ อินทรรัสมี เลขานุการ รมว.กห. ลงพื้นที่ชายแดนไทย – กัมพูชา บริเวณเกาะกูด อ.เกาะกูด จ.ตราด โดยมี พลเรือเอกไพโรจน์ เฟื่องจันทร์ เสนาธิการทหารเรือ เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือให้การต้อนรับ
โดยได้เรียนเชิญ รอง นรม./รมว.กห. ขึ้นแท่นรับความเคารพ และเข้ารับฟังการบรรยายสรุป ตรวจพื้นที่และการปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด พร้อมพบปะกำลังพล มอบเครื่องอุปโภคบริโภค สิ่งของเครื่องใช้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ โอกาสนี้ได้ร่วมหารือพูดคุยกับหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่ที่มาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

 

ในโอกาสนี้ รอง นรม./รมว.กห. ได้กล่าวให้โอวาทกับกำลังพลหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด ตอนหนึ่งว่า ขอให้กำลังพลทุกนายปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง และยืนยันพร้อมสนับสนุนในส่วนที่มีความขาดแคลน เพื่อให้กำลังพลปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มขีดความสามารถ ซึ่งหน่วยมีความพร้อมในการปฎิบัติหน้าที่ทั้งการบรรเทาสาธารณภัยและงานพัฒนาต่างๆ ที่ทำร่วมกับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของไทย แต่ขณะนี้เนื่องจากมีการเตรียมที่จะเจรจาตามกรอบของเอ็มโอยู 44 จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนขึ้นในสังคม แต่ขอย้ำให้กำลังพลปฏิบัติหน้าที่ของตนเองต่อไป

 

รอง นรม./รมว.กห. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทัพเรือ ได้จัดกำลังดูแลอธิปไตยของชาติทางทะเลด้านตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่เกาะกูด มาตั้งแต่อดีต และเมื่อไทยประกาศไหล่ทวีป เมื่อปี พ.ศ.2516 กองทัพเรือ ได้ดูแลมาอย่างต่อเนื่อง ยังไม่ปรากฏปัญหาในพื้นที่ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน สำหรับปัญหาในเรื่องระบบสาธารณูปโภคจะร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เพื่อ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

 

สำหรับ การอ้างสิทธิ์ในพื้นที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นสากล จะต้องใช้ MOU 44 มาเจรจากันในเรื่องที่ยังไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจน สิ่งสำคัญที่สุดคือ การจัดสรรผลประโยชน์ทางทะเล ซึ่งข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ที่สุดคืออยู่บนความพึงพอใจของสองประเทศ และประชาชนต้องได้รับประโยชน์สูงสุด
โดยได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การเดินทางมาครั้งนี้ เพื่อยืนยันว่าที่แห่งนี้เป็นของไทย และมีกำลังพลของกองทัพเรือและหน่วยงานราชการในการพิทักษ์รักษาอธิปไตย ใครจะรุกล้ำไม่ได้ และขอให้ประชาชนมีความสบายใจและมั่นใจขึ้นว่า รัฐบาลจะรักษาพื้นที่ไว้ไม่ให้เสียพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียว

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน 0909535645

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป