24/11/2024

‘พิชัย’ จับมือทูตแคนาดา เร่งเครื่องเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา พร้อมนัดถกรัฐมนตรีการค้าแคนาดาช่วงประชุมเอเปคที่เปรู ขยายโอกาสการค้าในตลาดอเมริกาเหนือ

‘พิชัย’ จับมือทูตแคนาดา เร่งเครื่องเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา พร้อมนัดถกรัฐมนตรีการค้าแคนาดาช่วงประชุมเอเปคที่เปรู ขยายโอกาสการค้าในตลาดอเมริกาเหนือ

 

 

วันที่ 28 ตุลาคม 2567
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับนางสาวปิง คิตนีกอน (H.E. Ms. Ping Kitnikone) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ณ กระทรวงพาณิชย์ ว่าเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายได้พบกันหลังจากที่ได้เข้ารับตำแหน่ง โดยเน้นย้ำความพร้อมของไทยในการทำงานร่วมกับแคนาดาอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ระหว่างกัน

นายพิชัย กล่าวว่า ไทยพร้อมเปิดรับการลงทุนจากแคนาดาที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการจัดการทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพ ซึ่งสอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ด้านพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมต่อยอดความร่วมมือกับแคนดาด้าน AI และ Cybersecurity อีกทั้ง ไทยยังมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลกได้นอกจากนี้ ไทยยังสามารถขยายโอกาสทางเศรษฐกิจกับแคนาดาเพื่อเชื่อมโยงไปยังกลุ่มประเทศ G7 ที่แคนาดามีความตกลงการค้าเสรีครบทุกประเทศแล้ว

นายพิชัย เสริมว่า ตนได้ขอบคุณแคนาดาที่มีแผนจะนำคณะนักธุรกิจแคนาดาสาขาต่าง ๆ มายังไทยช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 พร้อมทั้งได้เชิญชวนภาคธุรกิจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าของกระทรวงพาณิชย์ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศร่วมกับภาคเอกชน เช่น งานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-ANUGA ASIA (27-31 พฤษภาคม 2568) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารที่ใหญ่ของเอเชีย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างกันด้วย

นายพิชัย กล่าวต่ออีกว่า ไทยและแคนาดาเห็นพ้องที่จะสนับสนุนการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ให้เสร็จตามเป้าหมายในปี 2568 ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจทั้งสองประเทศ และขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน สามารถเชื่อมโยงทั้งสองภูมิภาคให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น และความตกลงดังกล่าวยังถือเป็น FTA แรกของไทยกับประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ

นอกจากนี้ ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ตนยังได้พบกับนายกรัฐมนตรีแคนาดา (นายจัสติน ทรูโด) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการส่งเสริมการส่งออก การค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจ ของแคนาดา (นาง Mary Ng) และในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting: AMM) ครั้งที่ 35 กลางเดือนพฤศจิกายน 2567 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ที่จะถึงนี้ ตนจะมีโอกาสพบหารือกับ นาง Mary Ng อีกครั้ง เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในเชิงลึกระหว่างไทยและแคนาดาต่อไป

ในปี 2566 แคนาดาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 30 ของไทย โดยการค้ารวมของไทยและแคนาดา มีมูลค่า 2,933.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.41 โดยไทยส่งออกไปยังแคนาดามูลค่า 1,903.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.07 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์  เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ไทยนำเข้าจากแคนาดามูลค่า 1,030.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 11.03 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป