27/12/2024

ม.มหิดล ชูความสำเร็จผลงานนวัตกรรมวัคซีนไข้เลือดออกเดงกี ชนิดเข็มเดียว เตรียมผลักดันออกสู่ตลาดโลก

IMG_9093

ม.มหิดล ชูความสำเร็จผลงานนวัตกรรมวัคซีนไข้เลือดออกเดงกี ชนิดเข็มเดียว เตรียมผลักดันออกสู่ตลาดโลก

โรคไข้เลือด เป็นหนึ่งในโรคประจำถิ่นในทุกประเทศเขตร้อนของโลกรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี มียุงลายหรือยุงรำคาญเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน และในปัจจุบันมีประชากรประมาณ 4 ล้านคนติดเชื้อไวรัสเดงกีทุกปี ราว 20-25% มีอาการป่วย ราว 1-5% ของผู้ป่วยมีอาการช็อคจากภาวะการไหลเวียนของเลือดล้มเหลวหรือเลือดออกมาก สำหรับไวรัสเดงกีมี 4 สายพันธุ์ โดยแต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างของสายพันธุกรรมราว 30-35% ความแตกต่างของไวรัสเดงกีสายพันธุ์ในระดับนี้ ทำให้ต้องพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกให้ครบทั้ง 4 สายพันธุ์ จึงจะมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ม.มหิดล กับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และทางกายภาพ

มหาวิทยาลัยมหิดล มีการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกเดงกีมานานกว่า 40 ปี และกำลังดำเนินมาถึงโค้งสุดท้ายก่อนจะนำผลิตภัณฑ์มาใช้ในตลาดโลก โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน โดยมี
ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ. สุธี ยกส้าน เป็นผู้บริหารและผู้วิจัยหลัก โดยแรกเริ่ม Transfer Technology
จากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย จากความร่วมมือของทีมงานวิจัยไทยกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศภายใต้การสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกทั้งที่เจนีวาและอินเดีย เป็นระยะเวลานานกว่า 25 ปี ทำให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนสามารถผลิตผลงานวัคซีนที่มีมาตรฐานในระดับสากลได้ ผ่านการพัฒนาคัดเลือกเทคโนโลยีที่มีความเฉพาะในการคัดเลือกเชื้อไวรัสที่เหมาะสมสำหรับการใช้เป็นวัคซีน มีการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนตัวเลือกในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง อาสาสมัครผู้ใหญ่และผู้เยาว์ ภายใต้การตรวจสอบความปลอดภัยและการสร้างภูมิคุ้มกันของเชื้อวัคซีนแต่ละสายพันธุ์ตลอดทั้งการรายงานผลการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนทุกขั้นตอน ทั้งยังผ่านกาตรวจสอบจากองค์การอนามัยโลกที่ได้จัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญ (WHO Peer Review Committee) มาตรวจสอบฟังรายงานความก้าวหน้าทางวิชาการและตรวจสอบข้อมูลดิบ (raw data) เป็นประจำทุกปี เป็นที่เชื่อถือได้ในระดับสากลส่งผลให้ฝ่ายเอกชนจากหลากหลายประเทศตัดสินใจในการร่วมลงทุนพัฒนานวัตกรรมวัคซีน

ศ.นายแพทย์ สุธี กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนเดงกีทั้ง 4 ชนิดเป็นผลจากการเรียนรู้หลัก 2ประการ ได้แก่การค้นหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับไวรัสเดงกี มีการลองผิดลองถูก มีการตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระจากต่างประเทศจนเกิดความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งต้องการความเชื่อมั่นในระดับสูงสุด ผลสำเร็จอีกประการหนึ่งที่ผู้วิจัยเรียนรู้คือ technology ของการทำวัคซีนรวม 4 ชนิด (tetravalent) โดยสามารถปลูกสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อไวรัสเดงกีแต่ละชนิดได้ครบ
ทั้ง 4 สายพันธุ์เพื่อฉีดรวมกันในเข็มเดียว ภูมิคุ้มกันนั้นต้องอยู่ในระดับที่สูงและสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันพร้อม กัน (balance immune response) แม้จะเผชิญอุปสรรคนานับประการ แต่ทุก ๆ ฝ่ายสามารถช่วยกันขับเคลื่อนงานให้ก้าวหน้าไปได้ดีตามเป้าหมาย อาจสรุปได้ว่าผู้คนทุกคนสามารถได้รับวัคซีนชนิด 1 เข็มนี้ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย (1-2 ขวบ) ตลอดจนถึงผู้สูงอายุ โดยไม่ต้องทำการเจาะเลือดก่อนฉีดวัคซีน ไม่ต้องฉีดวัคซีนซ้ำหลายครั้ง (2-3 ครั้ง) โดยไม่ต้องกังวลถึงกลไกการเกิดโรคไข้เลือดออกที่รุนแรงเมื่อติดเชื้อจากธรรมชาติหลังจากการได้รับวัคซีน สำหรับหน่วยงานป้องกันและควบคุมโรคในระดับประเทศหรือองค์การอนามัยโลกควรจะพิจารณานำวัคซีนเข้าสู่โครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (Expand Program on Immunization) ในอนาคตที่ไม่นานเกินรอเราควรจะเห็น การตีกรอบโรคไข้เลือดออก ให้อยู่ในวงแคบที่สุด

ความร่วมมือระดับนานาชาติ / ความเชื่อมโยงผลิตวัคซีนไข้เลือดออกระดับอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

เริ่มตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2011 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มอบสิทธิบัตรการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกให้กับบริษัท Kaketsuken (ปัจจุบันบริษัท Kumamoto Meiji Biologics) ของประเทศญี่ปุ่น โดมีการทดสอบวัคซีนดังกล่าว phase 1 ในคนที่ประเทศออสเตรเลีย จากผลสำเร็จครั้งนี้ทำให้บริษัทดำเนินการใน phase 2 และ 3 ต่อไป ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันของรัฐบาลญี่ปุ่นและในปัจจุบันโครงการวิจัยวัคซีนเดงกีได้รับทุนสนับสนุนกว่า 9.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 296 ล้านบาท) จากการ license นวัตกรรมวัคซีน และการ Transfer Technology ให้แก่บริษัทอุตสาหกรรมวัคซีนจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่มหาวิทยาลัยกว่า2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 87.5 ล้านบาท) นอกจากนี้ทางโครงการยังได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหลายหน่วยงานในประเทศ อาทิ สภาวิจัยแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการทาวิทยาศาสตร์ (TCELs) และกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป