16/10/2024

สงขลา-พลังเยาวชนร่วมสร้างเรือพระวัดสระเกษ อนุรักษ์ท้องถิ่นและผู้สนใจ รวมพลังสร้างเรือพระ วัดสระเกษ ทำจากวัสดุธรรมชาติ สื่อสารเรื่องราวพระพุทธประวัติ และร่วมสืบสานประเพณีภาคใต้ เตรียมร่วมประกวดเรือพระวันศุกร์นี้

สงขลา-พลังเยาวชนร่วมสร้างเรือพระวัดสระเกษ อนุรักษ์ท้องถิ่นและผู้สนใจ รวมพลังสร้างเรือพระ วัดสระเกษ ทำจากวัสดุธรรมชาติ สื่อสารเรื่องราวพระพุทธประวัติ และร่วมสืบสานประเพณีภาคใต้ เตรียมร่วมประกวดเรือพระวันศุกร์นี้

 


ภายในวัดสระเกษ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลาจังหวัดสงขลา ช่วงนี้ จะเต็มไปด้วยกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ในจังหวัดสงขลา รวมถึงจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และประชาชนในชุมชนโดยรอบ นับ 200 ชีวิต มาร่วมกันสร้างสรรค์เรือพระ ซึ่งเป็นงานฝีมืออันวิจิตร ที่ประดับตกแต่งสะท้อนเรื่องราวของพุทธประวัติ เพื่อนำเข้าร่วมในประเพณีลากพระของพี่น้องชาวใต้ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ในช่วงหลังวันออกพระพรรษา โดยเฉพาะที่จังหวัดสงขลา ที่มีการจัดงานมาอย่างยิ่งใหญ่ต่อเนื่องทุกปี


ขณะนี้แต่ละคนต่างหยิบจับงานฝีมือที่ตนเองถนัด ขมักเขม้นในการรังสรรค์ผลงาน ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่จะนำไปประกอบเป็นเรือพระ มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนช่วยกันทำงานตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืน ทำให้บางคนเลยต้องอาศัยนอนที่วัด ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงปิดภาคเรียนพอดีส่วนคนที่เดินทางไป-กลับ จะมาช่วยทำงานช่วงกลางวัน ซึ่งทุกคนมาด้วยใจ ด้วยพลังของความศรัทธา ที่อยากช่วยเหลือวัด รังสรรค์งานให้ออกมาสวยงามมากที่สุด โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ต้องเร่งมือเป็นพิเศษ เนื่องจากการประกวดในงานประเพณี จะเริ่มต้นในวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 67 นี้แล้ว โดยปีนี้วัดสระเกษจะส่งเข้าประกวดในประเภทอนุรักษ์ท้องถิ่น และเคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดมาแล้ว 5 ปีซ้อน


นายปวินทร วงศ์สุวรรณ์ นายช่างเรือพระวัดสระเกษ เล่าว่า ตนเองมีความชอบด้านศิลปะวัฒนธรรมมาตั้งแต่ๆ เด็ก จนปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นครูศิลปะ ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา เนื่องจากเรียนมาในด้านที่เกี่ยวข้องและเห็นว่ามีความสามารถที่จะสืบสาน ต่อยอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของภาคใต้บ้านเราไว้ได้ ก็เลยเลยอาสาเป็นหัวหน้าช่างในการทำเรือพระ ทำมาปีนี้เป็นปีที่ 6 แล้ว พร้อมได้ชักชวนน้องๆ เยาวชน นักเรียน นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ มาร่วมด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความหลงใหลด้านนี้อยู่แล้ว

การทำเรือพระของวัดสระเกษ จะแตกต่างจากวัดอื่น ที่จะเพิ่มเรื่องราวการ นำเสนอนอกเหนือจากแกนหลักที่เป็นรับเสด็จพระพุทธเจ้า จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยการสอดแทรก แนวคิดคติธรรม ความเป็นท้องถิ่นสงขลาใส่เข้าไปด้วย บางปีมีการใส่ความวัฒนธรรมของเชื้อสายจีนเข้าไปด้วย หรือแม้กระทั่งการค้าขายกับต่างชาติในอดีต และในปีนี้ได้มีการย้อนไปถึงยุคอยุธยา ลึกไปถึงยุคทวารวดี พร้อมชูของดีของจังหวัดสงขลา อย่างเครื่องปั้นดินเผาเข้าไปด้วย เนื่องจากปัจจุบันได้ซบเซาไป จึงอยากจะโชว์ให้เห็น หวังให้พลิกฟื้นขึ้นมาด้วย โดยการตกแต่งเน้นไปทางโทนสีส้มจากแรงบันดาลใจของเครื่องปั้นดินเผา
ขณะความคืบหน้าการทำเรือพระ อยู่ที่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์


ส่วนวัสดุที่ใช้ในการทำเรือพระ ใช้วัสดุในธรรมชาติ 100% รวมถึงที่มีอยู่ในท้องถิ่น มีการใช้ของสดเข้ามาด้วย ทำให้การประกอบบางชิ้นส่วนต้องทำตอนใกล้เวลางานเท่านั้น ป้องกันการเหี่ยวเฉา อย่างเช่น เสื่อกระจูด ใบลานสาน ด้วยมือ เมล็ดธัญพืช เมล็ดถั่วเขียว ดอกไม้ รวมถึงมีงานแทงหยวก ศิลปะพื้นบ้านมาประกอบด้วย ซึ่งบางจุดมีการนำเม็ดข้าวฟ่างอาหารนก มาแยกสี จัดเรียงเป็นลวดลายที่สวยงามซึ่งทั้งหมดใช้เวลาการเตรียมงาน จัดทำกันมากว่า 6 เดือนแล้ว

พระครูใบฎีการาชภักดิ์ จริยโสภโณ เลขานุการเจ้าอาวาสวัดสระเกษ กล่าวว่า ประเพณีลากพระ และการทำเรือพระในพื้นที่จังสงขลา มีการสืบสานมาอย่างยาวนาน ด้วยพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชน และจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการ การพัฒนาของฝีมือ ทำให้เห็นเรือพระของแต่ละวัด
มีความวิจิตรตระการตามากขึ้น ซึ่งของวัดสระเกษ ตั้งแต่มีการจัดทำเรือพระมา ก็มีพลังประชาชน และเยาวชน มาเข้าร่วมในการจัดทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ด้วยความสนใจของคนรุ่นใหม่ จึงเกิดให้เห็นเป็นความโมเดิล เข้าถึงคนทุกกลุ่มวัย ผนวกรวมกับแนวคิดลายดั้งเดิม ซึ่งก่อเกิดพลังแห่งความสามัคคีในการสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างสวยงาม จึงอยากจะขอเชิญชวนพุทธบริษัท และนักท่องเที่ยว เข้าร่วมรับชมในประเพณีลากพระของจังหวัดสงขลา ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น 18 – 20 ตุลาคมนี้ ณ บริเวณสนามกีฬาติณสูลานนท์

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป