22/12/2024

กาฬสินธุ์องค์กรวินร็อคอินเตอร์แนชั่นแนลเดินหน้ารณรงค์ไถกลบตอซังข้าวลดปัญหาฝุ่น

DSC_7612_0

องค์กรวินร็อคอินเตอร์แนชั่นแนล ร่วมกับจังหวัดกาฬสินธุ์ เดินหน้ารณรงค์ไถกลบตอซังข้าว ลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและมลพิษทางอากาศ โครงการเรน “ไม่เผาในลุ่มน้ำชี”

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 15 ต.ค. 2567 ที่ ห้องประชุมสำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ องค์กรวินร็อคอินเตอร์แนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา โดยดำเนินโครงการเรนในประเทศไทย ได้ร่วมกับสำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ จัดฝึกอบรมเกษตรกร เรื่อง “กลยุทธ์และเทคโนโลยีไม่เผาตอซังในนาข้าว” โดยมีนายธีระพงษ์ ฤทธิโชติ เกษตร จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนายวิลเลี่ยม สปาร์ค ผู้อำนวยการองค์กรวินร็อคอินเตอร์แนชั่นแนล ประเทศไทย นางสาวจิราภรณ์ โชติพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการโครงการเรน รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล ผู้ประสานงานโครงการ Chi river No Burn นักวิชาการ เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการฝึกอบรมจำนวน 130 คน

นายธีระพงษ์ ฤทธิโชติ เกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้ มุ่งหวังให้เกษตรกรได้มีความรู้และความเข้าใจถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากยังมีเกษตรกรบางรายยังเผาตอวังด้วยเหตุผล คือ กำจัดง่าย เร็ว ลดต้นทุน สะดวก แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา เช่น หน้าดินถูกทำลายไปพร้อมกับจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อดิน ต่อต้นข้าว ทำให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญอย่างหนึ่งเป็นสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 ดังนั้นหากไม่มีการเผา ปล่อยให้จุลินทรีย์สลายตอซังแล้วไถกลบ จะส่งผลให้สภาพดินสมบูรณ์ดีมากขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น พืชและสัตว์เล็กๆจะมาอาศัยในแปลงนามากขึ้น และทางโครงการจะได้นำดินในแปลงสาธิตการไม่เผาตอซังและใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย ไปตรวจศึกษาดูความอุดมสมบูรณ์ของดินทั้งก่อนทำนาและหลังเก็บเกี่ยว

ด้านนายนิคม รวมสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจ โครงการเรน กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการในพื้นที่ 4 จังหวัดลุ่มน้ำชี ภายใต้ชื่อ Chi River No Burn Project (โครงการไม่เผาในลุ่มน้ำชี) ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ดำเนินกิจกรรมหลัก 4 ด้าน คือ การอบรมเชิงปฏิบัติการ ,การสร้างเครือข่ายเกษตรกร, การสร้างความร่วมมือ และการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และเกษตรกรที่ผ่านการอบรมจะได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ การไม่เผาตอซังข้าว นำขยายผลไปยังเกษตรกรท่านอื่นๆ ในการที่จะได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในการไม่เผา ให้หันไปใช้วิธีการอื่นในการกำจัดตอซังแทน เช่น การไถกลบ หรือใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลายแล้วจึงไถกลบ ซึ่งในกิจกรรมเหล่านี้โครงการเรนจะสนับสนุนเกษตรกรให้ใช้นวัตกรรมเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

“องค์กรวินร็อคอินเตอร์แนชั่นแนล เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ทำโครงการต่างๆทั่วโลกเพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ รักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยได้ดำเนินการในประเทศไทย ชื่อว่า โครงการเรน (RAIN: Thailand Regional Agriculture Innovation Network) ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 5 ปี ดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ 11 จังหวัดของประเทศไทย โครงการนี้จะได้สนับสนุนเกษตรกรรายย่อย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเกษตร โดยจะมีการคัดเลือกเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมสู่เกษตรกรในลดรายจ่าย เพิ่มผลผลิตและรักษาสิ่งแวดล้อม”

ขณะที่ รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล ผู้ประสานงานโครงการ Chi river No Burn กล่าวว่า โครงการเรนเพื่อสร้างเสน่ห์และแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมพร้อมปฏิบัติมากขึ้น โดยหลังจากอบรมให้ความรู้แล้ว เกษตรกรก็จะได้ขยายผลไปยังเพื่อนเกษตรกร ไม่เผาตอซังและมีการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายสำหรับเกษตรกรที่ผ่านการอบรมระดับจังหวัด หากสามารถขยายผลได้ 30 คนแรกของแต่ละจังหวัด จะได้รับรางวัลเป็นบัตรกำนัล (วอยเช่อร์) มูลค่า 10,000 บาทต่อคนสามารถนำไปแลกเป็นปัจจัยการผลิตจากหน่วยงานที่ทางโครงการได้ประสานงานไว้ รวมทั้งหมด 120 รางวัล คิดเป็นมูลค่า 1,200,000 บาท

นอกจากนี้ หลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะมีการประกวดว่า ชุมชน/หมู่บ้านไหนมีประกวดการจัดการแปลงนาโดยไม่เผาตอซังดีเด่น จังหวัดละ 3 รางวัล รวม 12 รางวัล ขณะเดียวกัน มีการสนับสนุนการทำแปลงสาธิตไม่เผาตอซังและใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย จำนวน 40 แปลง ซึ่งทางโครงการจะสนับสนุนจุลินทรีย์และค่าการเตรียมดินทั้ง 40 แปลง (ค่าไถดะ ไถพรวน) สิ่งเหล่าเป็นกลยุทธ์หนึ่งของโครงการที่ประสงค์ให้เกษตรเปลี่ยนทัศนคติไม่เผาตอซังด้วยการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย

อย่างไรก็ตามทางโครงการยังได้รับความร่วมมือจากสื่อเพื่อส่งข่าวสาร ความรู้ ไปยังกลุ่มเป้าหมาย ทั้ง young smart farmer and old smart farmer โดยมีสื่อ 1) ร่วมด้วยช่วยชาวบ้าน ฮอตนิวส์ขอนแก่น ผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต และ 2) สถานีวิทยุชุมชนแดนน้ำถิ่นปลา ผ่านคลื่น FM 103.75 MHz มหาสารคาม