20/09/2024

ลำพูน – กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำพูน เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำพูน เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ให้ความสำคัญในการแจ้งเตือน พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายธนา นวลปลอด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(หน.สนง.ปภ.)จังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ศูนย์อุตินิยมวิทยาภาคเหนือ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ ชายฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังปานกลาง พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

ในช่วงวันที่ 14 ถึง 17 กันยายน 2567 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้
กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน จะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน จะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2 ถึง 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กิโลเมตร/ชั่วโมง

จังหวัดลำพูน โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำพูน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนตก และเกษตรกรควรป้องกันผลิตผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหายด้วย

ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ลำพูน, เทศบาลเมือง(ทม.)ลำพูน วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ สภาวะอากาศและปัจจัยสภาพความเสี่ยงในพื้นที่ เพื่อประสานและบูรณาการหน่วยงานพลเรือน ตำรวจ เครือข่ายอาสาสมัคร จิตอาสา ภาคเอกชน เตรียมพร้อมทรัพยากร เครื่องมืออุปกรณ์และแผนเผชิญเหตุ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง โดยให้ความสำคัญในการแจ้งเดือน พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในทุกช่องทาง ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน(วช.) หอเตือนภัย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน/ชุมชน หากเกิดเหตุสาธารณภัย และส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินในพื้นที่ ให้เร่งดำเนินการให้ความ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจัดกำลังในรูปแบบทีมประชารัฐ เข้าสำรวจความเสียหาย และดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการ ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำพูนทราบ ภายใน 24 ชั่วโมง ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(สนง.ปภ.)จังหวัดลำพูน
ศาลากลางจังหวัดลำพูน ชั้น 2 ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่-ลำปาง ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมืองลำพูน
จังหวัดลำพูน เบอร์โทร/โทรสาร : 0-5356-2963 หรือ 1784 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทย(มท.)

 

ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ สภาวะอากาศและปัจจัยสภาพความเสี่ยงในพื้นที่ เพื่อประสานและบูรณาการหน่วยงานพลเรือน ตำรวจ เครือข่ายอาสาสมัคร จิตอาสา ภาคเอกชน เตรียมพร้อมทรัพยากรเครื่องมืออุปกรณ์และแผนเผชิญเหตุ รวมถึงความพร้อมของระบบสือสารสำรอง โดยให้ความสำคัญในการแจ้งเตือน พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในทุกช่องทาง ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน(วช.) หอเตือนภัย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน/ชุมชน และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาล/องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ให้ดำเนินการด้วย หากเกิดเหตุสาธารณภัย และส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินในพื้นที่ ให้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจัดกำลังในรูปแบบทีมประชารัฐ เข้าสำรวจความเสียหาย และดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำพูนทราบ ภายใน 24 ชั่วโมง..นายธนาฯ เปิดเผยในที่สุด

กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป