23/12/2024

กาฬสินธุ์-ชื่นชม รร.บ้านหนองตอกแป้นวิทยาน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติด้านหนึ่งนักเรียน หนึ่งอาชีพ

4_0

โรงเรียนบ้านหนองตอกแป้นวิทยา ต.หนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 สู่การปฏิบัติ ด้านหนึ่งนักเรียน หนึ่งอาชีพ นวัตกรรมการปฏิบัติที่เป็นเลิศ กับผลงาน “เกษตรมีกิน มีสุข” ได้รับการคัดเลือกจาก สพฐ. และธนาคารออมสิน เป็นสถานศึกษานำร่องโครงการอิ่มนี้เพื่อน้อง ต้นแบบส่งเสริมการสร้างแหล่งอาหารกลางวันในสถานศึกษา

วันที่ 21 กรกฎาคม 2567 นางศิรารัตน์ นาถมทอง ผอ.ร.ร.บ้านหนองตอกแป้นวิทยา อ.ยางตลาด สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 กล่าวว่า ตามที่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่ ทรงมีพระบรมราโชบายด้านการศึกษาแก่ผู้เรียน 4 ด้าน ประกอบด้วย การมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง, การมีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม, การมีงานทำ-มีอาชีพ และการเป็นพลเมืองดี ซึ่งทั้ง 4 นั้น เป็นหน้าที่ของทุกคน ครอบครัว สถานศึกษาและสถานประกอบการต้องส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสทำหน้าที่พลเมืองดี การเป็นพลเมืองดีคือ “เห็นอะไรที่จะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ” เช่น งานอาสาสมัคร งานบำเพ็ญประโยชน์ งานสาธารณกุศล ให้ทำด้วยความมีน้ำใจ และความเอื้ออาทร


นางศิรารัตน์ กล่าวว่าอีกว่า จากพระบรมราโชบายด้านการศึกษาฯ ดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประสาน ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในหลวงรัชกาลที่ 10 มาเป็นหลักในการบริหารจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้กับหน่วยงานในสังกัด นำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน ตามรอยพระยุคลบาทอย่างเป็นรูปธรรมทั้ง 4 ด้าน


“ร.ร.บ้านหนองตอกแป้นวิทยา สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิรารงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จึงได้น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษา สู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในโรงเรียน ทั้งด้านการมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ด้านการมีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม ด้านการมีงานทำ – มีอาชีพ และด้านการเป็นพลเมืองดี ประกอบกับการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อันเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตและวีถีปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียน ประชาชน สามารถประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอยู่อย่างเหมาะสม เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โรงเรียนจึงได้ดำเนินกิจกรรมเกษตรมีกิน มีสุข (Young Smart Farmer) ขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นมา” นางศิรารัตน์กล่าว


นางศิรารัตน์กล่าวอีกว่า การใช้นวัตกรรมทางการศึกษา บันได 4 ขั้นแห่งความสำเร็จ ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 มีความรู้, ขั้นที่ 2 มีประสบการณ์, ขั้นที่ 3 มีความสุข และขั้นที่ 4 มีความยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีการเกษตร สนับสนุนผู้เรียนให้มีความรู้ มีทัศนคติที่ดีในการประกอบอาชีพเกษตรกร สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ สอดคล้องกับพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้านการมีงานทำ-มีอาชีพ ดังกล่าว


“ในการปฏิบัติดังกล่าว ทางโรงเรียนได้จัดตั้งกลุ่มกลุ่มยุวเกษตรขึ้นมาดำเนินการ ด้านหนึ่งนักเรียน หนึ่งอาชีพ นวัตกรรมการปฏิบัติที่เป็นเลิศ กับผลงานเกษตรมีกิน มีสุข โดยมีการปลูกพืชผักสวนครัวหลายชนิด ปลอดการใช้สารเคมี เลี้ยงเป็ด ไก่ เป็นครัวอาหาร เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบปรุงอาการกลางวัน ซึ่งเป็นการปฏิบัติจริง และประหยัดงบประมาณของทางราชการ ผลการปฏิบัติดังกล่าว ซึ่งเป็นรูปธรรม ได้รับการคัดเลือกจาก สพฐ. และธนาคารออมสิน เป็นสถานศึกษานำร่องโครงการอิ่มนี้เพื่อน้อง ต้นแบบส่งเสริมการสร้างแหล่งอาหารกลางวันในสถานศึกษาอีกด้วย” นางศิรารัตน์กล่าว


ด้าน ว่าที่ ร.ต.สุรสิทธิ์ ถิตย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 กล่าวว่า ภาวะทางโภชนาการมีความสำคัญ เป็นเครื่องบ่งชี้ภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจ ในระดับบุคคลหากปล่อยให้เกิดการขาดสารอาหารหรือโรคน้ำหนักเกิน จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการ เจริญเติบโต รูปร่างไม่สมส่วน ภูมิต้านทานต่ำและเจ็บป่วยได้ง่าย นอกจากภาวะโภชนาการแล้ว อาหารของเด็กในโรงเรียน จำเป็นต้องเป็นอาหารที่ปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อน


ว่าที่ ร.ต.สุรสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันหลายโรงเรียนได้มีการจัดการระบบอาหารที่ดีเป็นสุขภาวะอย่างหนึ่ง ที่ต้องคำนึงถึง เนื่องจากการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาด้านอาหาร ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยงสู่มิติอื่นๆ ในการพัฒนาคุณภาพของเด็ก โดยการดำเนินการจะต้องเกิดจากความร่วมมือหลายส่วน ได้แก่ บ้าน โรงเรียน และชุมชน อย่างที่ ร.ร.บ้านหนองตอกแป้นวิทยา ได้จัดทำโครงการ “เกษตรมีกิน มีสุข” ขึ้น นับเป็นสถานศึกษานำร่อง และต้นแบบส่งเสริมการสร้างแหล่งอาหารกลางวันในสถานศึกษาอีกแห่งหนึ่ง ขอชื่นชมผู้อำนวยการโรงเรียน ตลอดจนคณะครู บุคลากร และนักเรียน ที่ร่วมแรงกาย แรงใจ ดำเนินการ


“ซึ่งลัพธ์ที่ได้เกิดคุณค่าทางด้านโภชนาการและด้านจิตใจ ส่งเสริมให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียน โดยเป็นอาหารที่มีคุณภาพ มีปริมาณเพียงพอและปลอดภัย ทั้งยังส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม นอกจากนักเรียนจะได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ แล้ว ยังส่งเสริมให้นักเรียนเกิดองค์ความรู้ทางด้านการเกษตร ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับครอบครัวและชุมชน รวมทั้งช่วยประหยัดงบประมาณขอบทางราชการอีกด้วย กระทั่ง สพฐ.และธนาคารออมสิน เห็นความสำคัญ คัดเลือกเป็นสถานศึกษานำร่องโครงการอิ่มนี้เพื่อน้องดังกล่าว” ว่าที่ ร.ต.สุรสิทธิ์กล่าวในที่สุด

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป