แม่ฮ่องสอน-เดินหน้า ขับเคลื่อนคัดค้านเหมืองแร่ – โรงโม่หินแม่สะเรียง
แม่ฮ่องสอน-เดินหน้า ขับเคลื่อนคัดค้านเหมืองแร่ – โรงโม่หินแม่สะเรียง
ณ โรงเรียนอนุบาลธาราทิพย์ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีการประชุมแกนนำขับเคลื่อนการคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูนอุตสาหกรรมใน อ.แม่สะเรียง พื้นที่ 132 ไร่ 91 ตารางวา หลังเรื่องราวผ่านมานานนับปี โดยมีเครือข่ายแกนนำ ประกอบไปด้วย ว่าที่ร้อยตรีทวีพันดิ์ วิศวกลกาล ผู้แทนคัดค้านโครงการเหมืองแร่แม่สะเรียง นายเล่าฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล (สส.แบบบัญชีรายชื่อ) นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ กลุ่มพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน ศจ.ดร.ทองทิพย์ แก้วใส แกนนำชุมชนคัดค้านโครงการเหมืองแร่แม่สะเรียง นายสุมิตรชัย หัตถศาร นักกฏหมายศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น พร้อมได้เชิญ นายสมบัติ ยะสินธ์ สส.จังหวัดแม่ฮ่องสอน เขต 2, ผู้บริหารนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น โดยมี นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอแม่สะเรียง นายวีกิจ เจ้าดูรี ปลัดอำเภอรับผิดชอบงานศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ พร้อมด้วย นางสาวจารุภา อุ่นจางวาง อุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมรับฟังการเสวนาขับเคลื่อนเครือข่ายคัดค้านเหมืองแร่-โรงโม่หินแม่สะเรียง เพื่อรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้อง ของเครือข่าย ฯ
ทั้งนี้ ตามที่ มีบริษัทเอกชนได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง ในท้องที่ หมู่ 13ตำบลบ้านกาศ และท้องที่หมู่ 3 ตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อปี 2565 โดย อุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับจดทะเบียนไว้เป็นคำขอที่ 1/2565 มีเนื้อที่ประมาณ 132 ไร่ 97 ตารางวา ตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่ 13 ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
ศจ.ดร.ทองทิพย์ แก้วใส หนึ่งในแกนนำเครือข่ายฯ การขับเคลื่อนคัดค้านการทำเหมืองแร่ – โรงโม่หินแม่สะเรียง เห็นว่าระยะเวลาได้ล่วงเลยมานาน และยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จึงเกิดความกังวลว่า ผู้ขอจะกลับมาดำเนินการในพื้นที่อีกครั้ง เนื่องจากยังไม่มีการถอนคำขอประทานบัตร จึงได้จัดกิจกรรมขับเคลื่อนคัดค้านเมืองแร่-โรงโม่หินแม่สะเรียง พร้อมกันนี้ เครือข่ายฯ ได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนฯ สรุปโดยสังเขป 7 ข้อ ประกอบไปด้วย ข้อ. 1 ขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น ตาม พรบ.อุตสาหกรรม โดยเชิญ ผู้ยื่นคำขอ ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ หน่วยงานในพื้นที่เกี่ยวข้อง ข้อ 2 ขอให้ถอดถอนพื้นที่แหล่งแร่ในพื้นที่ออกจากพื้นป่าอำเภอแม่สะเรียงต่ออธิบดีกระทรวงอุตสาหกรรม ข้อ 3 จัดกิจกรรมอนุรักษ์ป่า 3 ศาสนา ข้อ 4 จัดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ข้อ 5 จัดกิจกรรมแหล่งเรียนรู้ใศึกษาธรรมชาติให้กับโรงเรียนโดยกำหนดเข้าในหลักสูตร ข้อ 6 จัดกิจกรรมแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และ ข้อ 7 ยื่นถอดพื้นที่ ป่าเสื่อมโทรม
ทั้งนี้พี่น้องอำเภอแม่สะเรียงได้มีการรวมตัวคัดค้านการสร้างโรงโม่หิน ตั้งแต่ ปลายเดือนพฤษภาคม 2566 และ ได้มีการทำประชาคม รวบรวมรายชื่อชาวบ้านซึ่งคัดค้านการสร้างเหมืองกว่า 6,000 คน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านให้ยุติการขอประทานบัตร โดยมีการทำประชาคมชาวบ้านกว่า 20 หมู่บ้าน พร้อมระบุว่า การทำเหมืองใช้เวลา 30 ปี คนแม่สะเรียงต้องตายผ่อนส่ง นี่คือสาเหตุที่ทุกคนลุกขึ้นมาคัดค้าน เพื่อไม่ให้ป่าถูกทำลายจะไม่ให้มีเหมืองและโรงโม่หินเกิดขึ้นในอำเภอแม่สะเรียง ย้ำชัดเจน ถ้าบริษัทถอนเรื่องการขอประทานบัตรเราก็จะถอน แต่ถ้าบริษัทไม่ถอนเราก็ไม่ถอย
สุกัลยา บัวงาม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน