19/09/2024

‘ดีอี’ ปั้น ‘โคราชโมเดล’ ต้นแบบ ‘มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต’ ยกระดับศักยภาพประเทศรับ Digital Economy Hub

‘ดีอี’ ปั้น ‘โคราชโมเดล’ ต้นแบบ ‘มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต’ ยกระดับศักยภาพประเทศรับ Digital Economy Hub
– – – – – – –

 

1 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดโครงการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ ‘Digital Korat: The Future Starts now – โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต’ ซึ่งโดยกระทรวงดีอีจัดขึ้น ในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่จังหวัดนครราชสีมา ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2557 ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี ผู้บริหารกระทรวงดีอี และหน่วยงานในสังกัด กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (บีดีไอ) บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (เอ็นที) บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) พร้อมทั้งเครือข่ายและพี่น้องประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน เข้าร่วมงาน


.
นายประเสริฐ กล่าวว่า โครงการ ‘Digital Korat: The Future Starts now – โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต’ เป็นการขับเคลื่อนและยกระดับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือเป็นจังหวัดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ เป็นประตูสู่ภาคอีสาน ที่มีศักยภาพความพร้อมในหลายด้าน สู่การเป็นเมืองดิจิทัลในระดับภูมิภาค ภายใต้ภารกิจของกระทรวง ดีอี ใน 4 มิติ ประกอบด้วย 1. ดิจิทัลเพื่อความเท่าเทียม (ด้านสังคม) 2. ดิจิทัลเพื่อความปลอดภัย (ด้านความมั่นคง) 3. ดิจิทัลเพื่อโอกาสที่ดีกว่า (ด้านเศรษฐกิจ) 4. ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ด้านการดำเนินงานภาครัฐ) ผ่านการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวง ดีอี และภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่


.
1.การขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นจังหวัดต้นแบบในการใช้ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ลดการใช้กระดาษ (Paper Less) การส่งเสริมการใช้งานด้านดิจิทัลในระบบบริการสาธารณสุข และการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล
.
2.ความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อร่วมมือกันในการพัฒนากำลังคน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านดิจิทัล ให้กับนักศึกษาและบุคลากรของสถาบันการศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา


.
3.ความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กับ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เพื่อพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistic Hub) และส่งเสริม Soft Power ของจังหวัดนครราชสีมา เพื่อการเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปะ และการสร้างสรรค์ผลงานผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล


.
นายประเสริฐ กล่าวว่า นอกจากนี้กระทรวงดีอี ยังได้จัดกิจกรรมสัมมนาและอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดิจิทัลในด้านต่างๆ ได้แก่ การจัดกิจกรรมอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมกว่า 2,000 คน , กิจกรรมแนะนำอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) และแอปพลิเคชัน อสด. โดยผู้แทน สดช. เพื่อให้เกิดการพัฒนาและขยายเครือข่าย อสด. , กิจกรรมแนะนำบริการและข้อมูลที่ถูกต้องจากภาครัฐ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวออนไลน์ , โครงการ GCC 1111 แจ้งเบาะแสข่าวปลอม เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย สื่อลามก อนาจาร เว็บไซต์พนัน

รวมทั้งข้อมูลอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ ผ่านโทรสายด่วน 1111 , ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ให้คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภัยออนไลน์ ประสานเรื่องการแจ้งความดำเนินคดี ระงับบัญชีธนาคาร และกิจกรรมจัดแสดงนิทรรศการของกระทรวงดิจิทัลฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และภาคเอกชน ได้แก่ 1) การนำเสนอภารกิจ/โครงการสำคัญของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง ดีอี , 2) การนำเสนอหลักสูตรวิชาการด้านดิจิทัลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ที่ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เช่น VR Training และ EV เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และ 3) การนำเสนอนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของภาคเอกชน ได้แก่ Smart City ของบริษัท Huawei และ AI Mapping Robot ของบริษัท Metthier รวมถึงเทคโนโลยีทางการสื่อสารจาก บริษัท AIS และ True


.
“กระทรวงดีอี พร้อมขับเคลื่อนและยกระดับ จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้นแบบของมหานครดิจิทัลแห่งอนาคต ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ที่มีศักยภาพ และความพร้อม ด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลอย่างทั่วถึง สร้างสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างองค์ความรู้ พัฒนาทุนมนุษย์ให้กับประชาชน และบุคลากรหน่วยงานรัฐ ต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยทุกคนอย่างยั่งยืน พร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล ( Digital Economy Hub ) ของภูมิภาค” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจัทัลเพื่อเศรฐษกิจและสังคมกล่าว

/////////////

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป