23/12/2024

ลำพูน – ชวนเยือนสุดยอดชุมชนต้นแบบ ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

S__48799776_0

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ชวนเยือนสุดยอดชุมชนต้นแบบ เที่ยวชุมชน ยลวิถีชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จังหวัดลำพูน 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนยลวิถี ปี 2566.

 

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 เวลา 06:45 นาฬิกา ณ ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดตัวสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถีชุมชนคุณธรรมฯ” ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม โดยมี พระอธิการอ่อนแก้ว ชยฺยเสโน เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม, พระครูอุปถัมภ์สังฆกิจ รองเจ้าคณะอำเภอลี้ รองเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม, นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน, นางดวงกมล ยิ้มละมัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำพูน, นายโยธิน ประสงค์ความดี รองผู้ว่าราชการจงหวัดลำพูน, นายวิบูลย์ ภูริชชยันต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาทราย พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ ภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายสภาวัฒนธรรม ผู้นำชุมชนและคนในชุมชน เข้าร่วมฯ

 

ก่อนเปิดตัวสุดยอดชุมชนต้นแบบ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะ ได้ร่วมกันทำบุญตักบาตรข้าวเหนียว พระสงฆ์ 20 รูป เวียนเทียนรอบวิหารรอยพระบาท กราบนมัสการรอยพระพุทธบาท สรงน้ำรอยพระพุทธบาท ชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่บอกเล่าประวัติการสร้างวัดพระพุทธบาทห้วยต้มด้วย

สำหรับงานในวันนี้ มีกิจกรรมมากมายที่เกี่ยวกับวิถีชุมชน ประกอบด้วย พิธีฮ้องขวัญแขกแก้วมาเยือนวิถีปาเกอะญอโบราณ การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ(กะเหรี่ยง) ชุด “ระบำชาวเขา” และเปิดพิธีด้วยการหมุนเกอห่ะ(เครื่องปั่นฝ้าย) แสดงสัญลักษณ์อัตลักษณ์หนึ่งเดียวของชุมชนแห่งนี้ นอกจากนั้น ยังมีข่วงวัฒนธรรม การสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ชิมอาหารพื้นบ้าน ช้อปสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน มีการพานั่งรถรางชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบนพื้นที่สูงพระบาทห้วยต้ม มีการจัดแสดงนิทรรศการวิถีชีวิตชนเผ่าปาเกอะญอในอดีต ณ ศูนย์วิจัยงานหัตถกรรมบ้านห้วยต้ม มีการสาธิตการทอผ้าด้วยกี่เอว วิถีปาเกอะญอ และการเข้าไปกราบนมัสการพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย เสริมความสิริมงคลด้วย

 

ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ได้รับรางวัล 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี พ.ศ. 2566 จากการคัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติอย่างเข้มข้นทั่วประเทศ 76 ชุมชน ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ได้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จัดโครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ปัจจุบันมีชุมชนได้รับการคัดเลือกมาแล้วกว่า 30 ชุมชน อีกทั้งวธ.ยังมุ่งขับเคลื่อน Soft Power ของไทยสู่นานาชาติ ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน มาพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์สินค้าและบริการ ตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม นับเป็นชุมชนคุณธรรมที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีผู้นำ “พลังบวร” และเครือข่ายที่เข้มแข็ง ประชาชนมีความสุข มีความรักสามัคคี มีการสืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาของท้องถิ่น เป็นชุมชนที่มีศักยภาพ มีคุณภาพ และมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในทุกมิติ สามารถต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทุกประเภทอย่างยั่งยืนสืบไป

 

 

ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าปะกาเกอะญอ(กะเหรี่ยง) นับถือศาสนาพุทธตามวิถีครูบาชัยยะวงศาพัฒนาอย่างเคร่งครัด รับประทานอาหารมังสวิรัตไม่ทานเนื้อสัตว์ รวมทั้งยังคงดำเนินชีวิตตามวิถีกะเหรี่ยงดั้งเดิม ใช้ภาษาปกาเกอะญอในการสื่อสารภายในชุมชน มีการแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ และที่พักยังคงเป็นบ้านเรือนแบบโบราณ โดยเฉพาะในหมู่บ้านน้ำบ่อน้อย หมู่บ้านกะเหรี่ยงโบราณ เป็นพื้นที่ที่ทุกครัวเรือนยังคงดำเนินวิถีชีวิตตามวิถีกะเหรี่ยงดั้งเดิม การท่องเที่ยวชุมชนแห่งนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสอัตลักษณ์วิถีของชุมชนในทุก ๆ ด้าน เที่ยวเส้นทางท่องเที่ยวรอบชุมชน เช่น พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ใจบ้าน หรือ สะดือบ้าน ศูนย์หัตถกรรมบ้านห้วยต้ม พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแบบพื้นที่สูงบ้านพระบาทห้วยต้ม และบ้านกะเหรี่ยงโบราณ น้ำบ่อน้อย

นอกจากนี้ มาถึงชุมชนนี้แล้วไม่ควรพลาดชิมอาหารที่ต้องมาถึงจะได้ทาน อาทิ ต๊ะกะเปาะ(ข้าวเบอะ) เป็นอาหารหลักของชนเผ่าปกาเกอะญอ มุ้ยและชู(น้ำพริกดำ) ต๊ะจื้อที(แกงเย็น) ไว้ทานดับร้อนแทนน้ำแข็ง รู้สึกสดชื่น นิยมมากในหน้าร้อน ขนมเหม่โต๊ะปิ เป็นขนมที่ทำจากข้าวเหนียวผสมงาขี้ม่อน มีรสชาติหวานจากข้าวเหนียวและความมันจากงา

 

 

สำหรับผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม จะมีผ้าทอปกาเกอะญอ(กะเหรี่ยง) ปักด้วยเส้นไหมและลูกเดือย มีความเป็นเอกลักษณ์ และเครื่องเงินชุมชนพระบาทห้วยต้ม มีลวดลายหลักๆ ได้แก่ ลายเม็ดทราย ลายเม็ดข้าว ลายลาน ลายพดด้วง เป็นต้น

สำหรับชุมชนนี้มีเทศกาลประเพณีให้ทุกคนได้รวมตัว สร้างสัมพันธ์ที่ดีร่วมกันทั้งปี อาทิ เทศกาลเปลี่ยนผ้าครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา เป็นงานประเพณีเปลี่ยนผ้าครองสรีระทิพย์หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา แสดงความกตัญญูกตเวที รู้คุณแด่หลวงปู่ ประเพณีสรงน้ำรอยพระพุทธบาท จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน(ประมาณเดือนมิถุนายน)ของทุกปี เพื่อขอขมารอยพระพุทธบาท และครูบาทุกพระองค์ และประเพณีงานทำบุญทอดกฐิน จัดขึ้นหลังจากออกพรรษาของทุกปี จะมีการห่มผ้าพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย และทำบุญ “ตานแทน ตานใช้” เป็นต้น..

 

กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป