24/11/2024

ลำปาง-กฟผ.มุ่งสร้างชุมชนยั่งยืน ดึงชุมชนและพันธมิตรพัฒนาแม่เมาะสู่นิคมชุมชนเกษตร เตรียมพร้อมสู่ธุรกิจเพื่อสังคม มุ่งสู่เมืองอุตสาหกรรมสีเขียว

ลำปาง-กฟผ.มุ่งสร้างชุมชนยั่งยืน ดึงชุมชนและพันธมิตรพัฒนาแม่เมาะสู่นิคมชุมชนเกษตร เตรียมพร้อมสู่ธุรกิจเพื่อสังคม มุ่งสู่เมืองอุตสาหกรรมสีเขียว
.

วันนี้ 15 พฤษภาคม 2567 กฟผ. ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจ และ Startup ด้านอุตสาหกรรมเกษตร เปิดตัวโครงการ นิคมชุมชนเกษตรแม่เมาะบนพื้นที่รองรับการอพยพราษฎรบ้านดง ผลิตผักปลอดสารพิษส่งตลาดชั้นนำของประเทศ พร้อมพัฒนาสู่ Social Enterprise สร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน นายพัชระ สิมะเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดโครงการนิคมชุมชนเกษตรแม่เมาะ และโรงเรือนส่งเสริมเกษตรอินทรีย์แห่งใหม่บนพื้นที่รองรับการอพยพราษฎรบ้านดง โดยมีนายจรัญ คำเงิน รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายวิชัย ทองแตง ที่ปรึกษาบริษัท คิว บ็อกซ์ พอยท์ จำกัด

นายธิติพันธ์ บุญมี ประธานบริหารบริษัท คิว บ็อกซ์ พอยท์ จำกัด นายสานสิน ศรีภิรมย์รักษ์ ประธานบริหารบริษัท ไดสตาร์ เฟรช จำกัด ว่าที่ รต. ธนพงษ์พันธ์ เกี๋ยงแก้ว กำนันตำบลบ้านดง ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท นิคมชุมชนเกษตรแม่เมาะ จำกัด กานต์-ชนนิกานต์ สุพิทยาพร นางสาวไทยประจำปี 2566 ณิชา-ณิชา พูลโภคะ รองอันดับ 2 มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2023 ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร ผู้แทนจากหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน และชุมชนในพื้นที่ เข้าร่วมงาน ภายในงานมีการจัดเสวนาหัวข้อ “แม่เมาะเมืองน่าอยู่ เกษตรใหม่ เศรษฐกิจใหม่ ชีวิตใหม่” ณ โรงเรือนเกษตรกรรมแนวตั้ง หมู่บ้านอพยพ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

นายพัชระ สิมะเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จ.ลำปาง เป็น 1 ใน 10 เมืองรองที่มีศักยภาพ ด้านเศรษฐกิจ มิติการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการพัฒนาด้านเกษตร พร้อมรับการผลักดันสู่การเป็นเมืองในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ผ่านการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ อ.แม่เมาะ และ จ.ลำปาง เพื่อมุ่งสู่เมืองอุตสาหกรรมสีเขียวและการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอนาคต โครงการนิคมชุมชนเกษตรแม่เมาะ เป็นโครงการที่ขับเคลื่อนและยกระดับการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ควบคู่องค์ความรู้ ด้านการเกษตร โดยมีองค์กรพันธมิตรช่วยเสริมองค์ความรู้ และเป็นตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของ จ.ลำปาง ในมิติด้านการค้าและการลงทุน สร้างความมั่นคงยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้เกิดกับชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

นายจรัญ คำเงิน รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ดำเนินงานผลิตไฟฟ้าคู่กับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมมาตลอด 55 ปี โครงการนิคมชุมชนเกษตรแม่เมาะ นับเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาชุมชนอย่างรอบด้านและยั่งยืนของ กฟผ. ด้วยการสนับสนุนเงินทุนส่วนหนึ่งตั้งแต่ต้นโครงการ รวมถึงบุคลากร การเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม และตลาดจากพันธมิตรในภาคธุรกิจ ตลอดจนทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างยั่งยืน รองรับการเปลี่ยนแปลงและก้าวผ่านสู่ยุคพลังงานสีเขียวในอนาคตต่อไป

โครงการนิคมชุมชนเกษตรแม่เมาะ อยู่ภายใต้การดำเนินงานด้านวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ของ กฟผ. นำร่องที่ชุมชนหมู่บ้านอพยพ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยปี 2566 ส่งเสริมเกษตรกรรมแนวตั้ง (Vertical Farm) ปลูกผักปลอดสารพิษ ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน (บริษัท ไดสตาร์ เฟรช จำกัด) นำเทคโนโลยี มาผสมผสานกับการทำเกษตรกรรมและถ่ายทอดสู่ชุมชนเป็นแห่งแรกของภาคเหนือ กำลังการผลิต 1 ตัน/เดือน ส่งขายถึงผู้บริโภคโดยตรงผ่านช่องทางตลาด Online ในแบรนด์ Mae Moh Fresh ซึ่งวิสาหกิจชุมชนเกษตรแนวตั้งตำบลบ้านดง เป็นเจ้าของธุรกิจ และบริหารจัดการโดยคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ในนามของบริษัท นิคมชุมชนเกษตรแม่เมาะ จำกัด

และในปี 2567 นี้ จะมีการเปิดตัวหน่วยธุรกิจใหม่คือเกษตรอินทรีย์ 6 โรงเรือน กำลังการผลิต 4.8 ตัน/เดือน มีอาคารรวบรวมสินค้าระบบพลังโซลาร์เซลล์ โดย กฟผ. ได้ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน (บริษัท คิว บ็อกซ์ พอยท์ จํากัด) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญธุรกิจเทคโนโลยีการเกษตรด้านการผลิตพืชผักอาหารปลอดภัยภายใต้แพลตฟอร์ม “Farmbook” เชื่อมโยงผู้ผลิตไปยังตลาดที่สำคัญ อาทิ ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด ร้านอาหาร โรงแรม สร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ยังมีแผนในการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ที่มีศักยภาพใน อ.แม่เมาะ ต่อไปด้วย

ว่าที่ ร.ต.ธนพงษ์พันธ์ เกี๋ยงแก้ว กำนันตำบลบ้านดง ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท นิคมชุมชนเกษตรแม่เมาะ จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของชุมชนและผู้ประกอบการธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร แสดงให้เห็นว่าโครงการนิคมชุมชนเกษตรแม่เมาะมีทรัพยากรที่พร้อม สามารถผลักดันให้ชุมชนและผู้ประกอบการพัฒนาผลิตผล ทางการเกษตรที่มีคุณภาพต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ เกิดการจ้างงานในชุมชน และการกระจายรายได้สู่สังคมอย่างยั่งยืน

ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป