11/01/2025

ตาก – โรงพยาบาลแม่สอดจัดอบรม “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการกระบวนการและเทคนิคการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่น”

IMG_7527

ตาก – โรงพยาบาลแม่สอดจัดอบรม “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการกระบวนการและเทคนิคการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่น”
ณ ห้องประชุมเพชรชมพู ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา โรงพยาบาลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการกระบวนการและเทคนิคการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่น” โดยมี นพ.ศิริศักดิ์ เชื้อชวลิต หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลแม่สอด เป็นผู้กล่าวรายงาน พื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ติด ๑ ใน ๕ อันดับแรกของประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงโดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายในช่วงวัยรุ่นกลุ่มอายุ ๑๐-๑๙ ปี มีจำนวนสูงกว่า กลุ่มอายุอื่น จากทะเบียนผู้พยายามฆ่าตัวตายในเขตอำเภอแม่สอดตั้งแต่ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๗ สาเหตุหลักๆ ที่วัยรุ่นพยายามฆ่าตัวตาย อันดับแรก คือ ทะเลาะกับคนใกล้ชิด รองลงมาเป็นน้อยใจ ถูกดุด่า ตำหนิ ปัญหาความรัก ปัญหาการเรียน สูญเสียคนใกล้ชิด ยาเสพติด และเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช และวัยรุ่นกลุ่มนี้ เมื่อมีปัญหา มักไม่ปรึกษา หรือพูดคุยกับใคร เนื่องจาก ไม่ไว้วางใจ สถานที่/คนที่อยู่ด้วยไม่ใช่ Safe zone ของเขา ผู้ที่มารับบริการที่จิตเวชนั้นมีความหลากหลาย บางรายอาจจะมีอาการผิดปกติที่ชัดเจน เช่น อาการหูแว่ว หวาดระแวง วิตกกังวล ซึมเศร้า จนรบกวนต่อการใช้ชีวิต ในขณะที่บางรายอาจมีอาการผิดปกติที่ไม่ชัดเจน เช่น มีอารมณ์ พฤติกรรมเปลี่ยนไปเล็กน้อย ยังไม่รบกวนชีวิตประจำวัน สำหรับกระบวนการรักษา ประกอบด้วย ๒ ส่วนหลัก ๆ คือ การรักษาด้วยยา และการรักษาทางจิตสังคม เช่นการให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่สำคัญ การให้คำปรึกษาจะเป็นกระบวนการพูดคุยเพื่อช่วยให้ผู้รับบริการทำความเข้าใจถึงที่มาของปัญหา และเข้าใจตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือวัยรุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น เมื่อผู้ให้คำปรึกษามีความเข้าใจ ก็จะสามารถเลือกเทคนิคให้คำปรึกษาได้สอดคล้องเหมาะสมกับวัยรุ่น ในการนี้กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด จึงได้จัดให้มีการอบรม “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการกระบวนการและเทคนิคการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่น” ขึ้น โดยผู้เข้าร่วมการอบรมประกอบด้วยผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิต บุคลากรทางการศึกษา คุณครู สหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ กระบวนการ และเทคนิคการให้คำปรึกษาสามารถให้คำปรึกษาเบื้องต้น และเพื่อสร้างเครือข่ายในการดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่นได้ //////////////////////
ภาพและข่าว วรภา พันลุตัน จ.ตาก