24/12/2024

บสย. เปิดบ้าน “ค้ำประกันสินเชื่อ” ชู Digital Platform สู่ “SMEs Digital Gateway”

S__83288141

บสย. เปิดบ้าน “ค้ำประกันสินเชื่อ” ชู Digital Platform สู่ “SMEs Digital Gateway” ปรับโฉมสำนักงานเขต สู่ ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ล่าสุด..ขานรับนโยบายรัฐ ลดอัตราดอกเบี้ยตามประกาศ 0.25% ช่วย SMEs รายย่อยและกลุ่มเปราะบาง มีผล 1 พ.ค.67

 

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงาน บสย. ปี 2567 มุ่งนโยบายการทำงานเชิงรุกช่วยผู้ประกอบการ SMEs ทุกมิติ ภายใต้ค่านิยม TCG Fast & First รวดเร็ว รอบคอบ ที่หนึ่งในใจ SMEs เติมทุน หนุนค้ำ SMEs ช่วยลูกหนี้ แก้หนี้ยั่งยืน ให้ความรู้ทางการเงิน SMEs และการเร่งยกระดับองค์กรด้วย Digital Technology

เป้าหมายสำคัญในปีนี้ คือการก้าวสู่ SMEs Digital Gateway เพิ่มบทบาท บสย. ให้เป็น Credit Mediator โดยปรับโมเดลสำนักงานเขตทั่วประเทศ (Branch Reformat) สู่การเป็นศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A.Center) โดยใช้ TCG Learning Center เป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนา นำร่อง สำนักงานเขตจังหวัดชลบุรี และ สำนักงานเขตจังหวัดอยุธยา ขณะเดียวกันได้เร่งขยายบทบาทการค้ำประกันผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เชื่อมโยง บสย. กับสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการแต่ละ Platform ในการเข้าถึงแหล่งทุน ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ผ่านระบบ Online ควบคู่ไปกับการพัฒนาบริการใหม่ผ่าน LINE OA @tcgfirst

สำหรับผลดำเนินงาน บสย. ไตรมาสแรกปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 14,432 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ จำนวน 36,142 ราย แบ่งสัดส่วนค้ำประกันสินเชื่อในเขตกรุงเทพ 42% และสัดส่วนค้ำประกันสินเชื่อต่างจังหวัด 58% สูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17% ภาคใต้ 13% และ ภาคเหนือ 12%
ประเภทอุตสาหกรรมค้ำประกันสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. ภาคบริการ 29% (4,287 ล้านบาท) 2.ภาคการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 14% (2,085 บาท) 3. ภาคสินค้าอุปโภคบริโภค 11% (1,490 ล้านบาท) 4.ภาคธุรกิจสินค้าและเครื่องดื่ม 9% (1,288 ล้านบาท) และ 5.ภาคเกษตรกรรม 8% (1,168 ล้านบาท)

โครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ให้บริการสูงสุดในไตรมาส 1/2567 (ม.ค.-มี.ค.) ได้แก่ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะ 2 สัดส่วน 51% (7,201ล้านบาท 1,296 ราย สิ้นสุดรับคำขอ 9 เม.ย.2567) 2.โครงการตามมาตรการรัฐ “บสย. SMEs เข้มแข็ง” (PGS 10) สัดส่วน 27% (3,833 ล้านบาท 33,857 ราย) 3.โครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง สัดส่วน 21% (3,398 ล้านบาท 1,002 ราย) ได้แก่ โครงการ BI 7 (Bilateral) และโครงการ Hybrid Guarantee
ด้านการช่วยเหลือลูกหนี้แก้หนี้ยั่งยืน มีผู้เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้มาตรการ ผ่อนน้อย เบาแรง หนี้ลด หมดเร็ว ด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% และได้รับการประนอมหนี้ ระหว่าง เมษายน 2565 – 31 มีนาคม 2567 กว่า 14,000 ราย ขณะที่มาตรการ “ปลดหนี้” ไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.2567) มีลูกหนี้ร่วมโครงการ จำนวน 66 ราย มูลหนี้กว่า 14 ล้านบาท

การดำเนินงานไตรมาส 2 บสย. เร่งช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงสินเชื่อผ่านกลไกค้ำประกัน โดยมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อรองรับต่อเนื่อง อาทิ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ BI 7 (Bilateral) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Hybrid Guarantee โครงการค้ำประกันสินเชื่อค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Pricing : RBP) นอกจากนี้ บสย. อยู่ในระหว่างการนำเสนอต่อกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอน ได้แก่

1.โครงการตามนโยบายรัฐ IGNITE Thailand วงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท ร่วมกับธนาคารพันธมิตร ขณะนี้อยู่ในระหว่างเสนอต่อ ครม.
2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS11 วงเงิน 50,000 ล้านบาท กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการขออนุมัติและเสนอ ครม. คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs กว่า 76,000 ราย


3.โครงการแก้ไขประกาศกระทรวงการคลัง การกำหนดให้นิติบุคคลผู้ให้บริการสินเชื่อเป็นสถาบันการเงิน (Non-Bank) ที่คาดว่าจะสามารถช่วยผู้ประกอบการเข้าในระบบได้มากกว่า 400,000 ราย
4.โครงการร่วมลงทุนกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (JV AMC) อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบความร่วมมือ เพื่อดำเนินการ ภายใต้กรอบเวลาตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะที่ล่าสุด บสย. พร้อมให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามประกาศ 0.25% เพื่อช่วยเหลือ SMEs รายย่อย และกลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง มีผล 1 พฤษภาคม นี้

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป