23/12/2024

เชียงใหม่-กรมสุขภาพจิต บูรณาการสร้างเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพจิต พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่นำร่องเขตสุขภาพที่ 1

S__80199690_0

เชียงใหม่-กรมสุขภาพจิต บูรณาการสร้างเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพจิต พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่นำร่องเขตสุขภาพที่ 1

 

วันที่ 6 มีนาคม 2567 กรมสุขภาพจิต โดยสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต ได้ดำเนินการพัฒนาเครือข่ายเพื่อการสื่อสารสุขภาพจิต เพื่อให้การทำงานเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และเกิดกลไกการสื่อสารเพื่อลดปัญหาวิกฤตสุขภาพจิต แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และรูปแบบของการสื่อสารในแขนงต่าง ๆ  ถือเป็นการสร้างสังคมนักสื่อสาร นำไปสู่การพัฒนาเชิงนโยบายในการสื่อสารสุขภาพจิต

นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิตคนไทยมาโดยตลอด โดยนอกเหนือจากการเฝ้าระวังสถานการณ์วิกฤตสุขภาพจิต  การให้ความรู้ทางด้านสุขภาพจิต เพื่อประชาชนได้รับความรู้สุขภาพจิตอย่างถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาการสื่อสารสุขภาพจิตได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในการส่งต่อข้อมูลความรู้สุขภาพจิตไปยังประชาชน การที่จะทำให้ความรู้เหล่านั้นเป็นที่ยอมรับและติดตาม เป็นสิ่งที่กรมสุขภาพจิตยังต้องการการสนับสนุน และต้องการที่จะให้ความรู้สุขภาพจิตที่ถูกต้องส่งต่อไปยังประชาชนในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อสร้างการจดจำและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน

การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาภาคีเครือข่าย นักสื่อสารสุขภาพจิต : Mental Influence Team เขตสุขภาพที่ 1 ในครั้งนี้ จะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และรูปแบบของการสื่อสารในแขนงต่าง ๆ  ถือเป็นการสร้างสังคมนักสื่อสาร ที่พร้อมจะสร้างสรรค์สื่อที่จะนำไปสู่การมีสุขภาพจิตดีในประชาชนต่อไป จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี และน่าชื่นชมในความร่วมมือของภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพจิตที่ทำงานกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันเติมพลังในมิติต่าง ๆ ให้ประชาชนในการช่วยเหลือและดูแลตนเองและคนรอบข้างได้ นำไปสู่การพัฒนาผู้นำการสื่อสารส่งเสริมสุขภาพจิตเพื่อคนไทย

นายแพทย์จุมภฎ  พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระยะ 3 – 4 ปี ได้สร้างความเสียหายให้กับประชาชนทั้งทางกายและทางใจ ซึ่งการที่ประเทศไทยก้าวผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ มาได้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่บุคลากรทุกระดับมีเป้าหมายในการที่จะช่วยเหลือและดูแลตนเอง พร้อมที่จะเป็นเพื่อน และช่วยเหลือให้ก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยากลำบากไปด้วยกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมมีความต้องการที่จะเข้าถึงเรื่องของสุขภาพจิตที่เพิ่มมากขึ้น จากการสื่อสารที่รวดเร็วและไร้พรมแดน สถานการณ์ความรุนแรงวิกฤตสุขภาพจิตสามารถแพร่กระจายได้ในวงกว้าง

ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบได้ทั้งในทางบวก และทางลบ หากขาดการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การดำเนินงานสื่อสารในสถานการณ์วิกฤตเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการชะลอเรื่องร้ายและกระจายข่าวดี การพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายสื่อสารมวลชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง การพัฒนาภาคีเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพจิต Mental Influence Team (ทีม MIT) ให้เกิดการสร้างข่าวดีและการสื่อสารสถานการณ์วิกฤตในระดับพื้นที่ เพื่อลดปัญหาวิกฤตสุขภาพจิต และเกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตจากการสื่อสารที่เชื่อถือได้และเป็นปัจจุบันเกิดกลไกในการพัฒนาเครือข่ายที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ภายในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์วิกฤตสุขภาพจิต เพื่อแนะนำให้เกิดทักษะในการคัดเลือก เข้าถึง และสร้างสรรค์สื่อเพื่อการสื่อสารและส่งเสริมสุขภาพจิต มีทักษะการสื่อสารในสถานการณ์วิกฤตในระดับพื้นที่และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบายในการสื่อสารสุขภาพจิต

นภาพร/เชียงใหม่

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป