20/09/2024

ประชุมเตรียมความพร้อมการรักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวกการจราจร และการบริการประชาชน การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ

ประชุมเตรียมความพร้อมการรักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวกการจราจร และการบริการประชาชน การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ

วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 13.30 น. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมาย พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการรักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวกการจราจร และการบริการประชาชน การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ ของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุม ศปก.ตร. ชั้น 20 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

ภายหลังการประชุม เวลา 15.00 น. พล.ต.อ.ไกรบุญ ฯ มอบหมายให้ พล.ต.ท.อุดร ยอมเจริญ ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. และ พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง โฆษก ตร. พร้อมผู้แทนจาก สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ,กระทรวงสาธารณสุข , กระทรวงมหาดไทย,กระทรวงวัฒนธรรม,กรมการศาสนา , กรมเจ้าท่า และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แถลงเรื่องการรักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวกการจราจร และการบริการประชาชน ในโอกาสดังกล่าว

เนื่องจากในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา รัฐบาลจึงเห็นสมควรดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้งนี้ รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย โดยสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินเดีย ณ กรุงนิวเดลี พระอรหันตธาตุของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ จากสถูปโบราณปิปราห์วา เมืองสาญจี สาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2567 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทย
และสาธารณรัฐอินเดีย รวมทั้งให้ประชาชนได้เข้าสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ โดยมีกำหนดการ สรุปได้ดังนี้

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15.00 น. อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ จากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 มาประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และในช่วงเย็นวันเดียวกัน กระทรวงวัฒนธรรม กำหนดให้มีการซักซ้อมขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุฯ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17.00 น. อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุฯ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ไปประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 07.00 น. พิธีตักบาตร ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะ เวลา 09.00 – 20.00 น. ในช่วงเวลา 17.00 – 18.00 น. มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์

วันที่ 5 – 8 มีนาคม 2567 ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ และเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะ เวลา 09.00 – 20.00 น.

วันที่ 10 – 13 มีนาคม 2567 ณ วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี และเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะ เวลา 09.00 – 20.00 น.

วันที่ 15 – 18 มีนาคม 2567 ณ วัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่ และเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะ เวลา 09.00 – 20.00 น.

สำหรับ พระสงฆ์ ประชาชนชาวไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เป็นพุทธศาสนิกชน ที่จะเข้าไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ขอความร่วมมือให้เดินผ่านจุดคัดกรอง จำนวน 2 จุด ซึ่งอยู่รอบสนามหลวงบริเวณถนนผ่ากลาง ฝั่งตรงข้ามศาลฎีกา และฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นหน่วยรับผิดชอบการรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกการจราจร มีการตั้งกองอำนวยการร่วม ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

สำหรับบริหารจัดการ จัดเตรียมสถานที่จอดรถ ณ ท้องสนามหลวงด้านทิศเหนือ กองสลากเก่า และถนนราชินีด้านหลังศาลฎีกา สำหรับประชาชนที่นำรถยนต์มา เตรียมสถานที่จอดรถสำรอง ณ หอประชุมกองทัพเรือ , กรมเจ้าท่าจัดเรือข้ามฟาก รับ-ส่งประชาชนจากหอประชุมกองทัพเรือไปยังท่าช้าง ส่วนประชาชน นักเรียน นักศึกษาที่เดินทางเป็นหมู่คณะจากในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ให้นำรถบัสไปจอดที่ร้านตำรับไท บริเวณแยกอรุณอมรินทร์ และใต้สะพานพระราม 8 จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจ กรุงเทพมหานคร ดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินให้แก่ประชาชน สำหรับสถานบันการศึกษา หรือจังหวัดใกล้เคียงประสงค์ขอให้ส่วนราชการจัดรถบัสให้บริการรับ-ส่งประชาชน นักเรียน นักศึกษา ขอให้ประสานมายังกองอำนวยการร่วม หรือผ่านสำนักงานจังหวัดได้

กรณีประชาชนเดินทางรถโดยสารสาธารณะ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อำนวยความสะดวกจัดรถโดยสารให้บริการรับ-ส่งประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุฯ ณ ท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึง 3 มีนาคม 2567 โดยจัดเดินรถโดยสารให้บริการประชาชน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – สนามหลวง (ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า) และเส้นทางที่ 2 วงเวียนใหญ่ – สนามหลวง (ตรงข้ามศาลฎีกา) ได้จัดเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ทั้งจุดต้นทางและปลายทาง

ส่วนกรมเจ้าท่า ได้ร่วมกับบริษัทเอกชนต่าง ๆ จัดเรือบริการฟรี โดยให้บริการ (1) เรือข้ามฟาก จาก ท่าวัดระฆัง – ท่าวังหลัง – ท่าวัดอรุณ ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึง 3 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 – 18.00 น. , เรือจาก บริษัท ไทย สมายส์ โบ้ท จากท่าน้ำนนท์ ถึงท่าช้าง ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 3 มีนาคม 2567 ให้บริการวันละ 4 เที่ยว , เรือจากบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จากท่าน้ำนนท์ ถึงท่าช้าง ระหว่าง วันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2567 จากท่าน้ำนนท์ เวลา 09.00 น. , 10.00 น. , 15.00 น. และ 16.00 น.

การบริการทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จัดชุดบริการทางการแพทย์ประจำเต็นท์บริการ และชุดพยาบาลเดินเท้า พร้อมรถพยาบาลกู้ชีพ สำหรับให้บริการประชาชนที่อาจเจ็บป่วยในขณะเข้าสักการะพระบรมสารีริกธาตุฯ การประปานครหลวง จัดรถน้ำดื่ม จำนวน 3 คัน ให้บริการประชาชน กรุงเทพมหานคร จัดรถสุขาเคลื่อนที่บริเวณรอบท้องสนามหลวง ทั้งฝั่งศาลฎีกา และฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบก จัดเจ้าหน้าที่บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนบริเวณจุดขึ้น-ลงรถรับจ้างสาธารณะรอบท้องสนามหลวง

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป