ธรรมนัสสั่งลงดาบเชือดกลุ่มกินหัวคิวโคบาลชายแดนใต้
ธรรมนัสสั่งลงดาบเชือดกลุ่มกินหัวคิวโคบาลชายแดนใต้
โฆษก ก.เกษตรฯ เผย ธรรมนัส สั่งลงดาบเชือด กลุ่มกินหัวคิว โคบาลชายแดนใต้ สอบพบทุจริตเอาผิดไม่เว้นหน้าใคร ด้าน ”รมช.ไชยา“ รับไม้ต่อเร่งสอบขยายผลเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคที่เดือดร้อนด่วน
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวอัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) กล่าวถึงกรณี “โครงการโคบาลชายแดนใต้” เรื่องการจัดหาแม่โคของกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดปัตตานี ไม่ตรงตามคุณลักษณะเฉพาะ(Specification) ของโครงการ ว่า การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ปัจจุบันอยู่ในระยะนำร่อง เกษตรกร 60 กลุ่ม แม่โคพื้นเมือง 3,000 ตัว เงินกู้ยืม 93 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 1.20 ล้านบาท จึงย้ำว่า ขณะนี้เป็นการดำเนินงานระยะนำร่อง
ปัญหานี้ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน และมอบหมายให้ ดร.ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ เร่งหาข้อมูลในการช่วยเหลือ และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ปัญหาในขณะนี้ คือ กลุ่มเกษตรกรจังหวัดปัตตานีบางกลุ่มได้ “แม่โคพื้นเมืองที่ส่งมอบให้กลุ่มมีลักษณะไม่ตรงตามเงื่อนไขของโครงการ แต่จังหวัดอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ยังไม่เจอกับปัญหานี้ จึงขอชี้แจงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นแค่จุดเดียว คือ จ. ปัตตานี ข้อกำหนดในเอกสารเขียนชัดเจนว่า ให้กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้จัดหาพันธุ์สัตว์เองตามคุณลักษณะเฉพาะที่กรมปศุสัตว์กำหนด โดยกำหนดสายพันธุ์ อายุ น้ำหนักตัว สุขภาพสัตว์ การได้รับวัคซีน และการตรวจโรคที่สำคัญ พร้อมเงื่อนไขการรับประกันหากไม่ถูกต้องตามที่กำหนด ผู้ขายจะต้องเปลี่ยนตัวสัตว์ใหม่ให้แก่เกษตรกร เมื่อผู้ขายแจ้งกำหนดส่งมอบโค ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตรวจสอบโค ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโครงการ เมื่อเอกสารและคุณภาพตรงตามเงื่อนไข และเกษตรกรมีความพึงพอใจ ก็จะดำเนินการตรวจรับและจัดส่งเอกสารเพื่อทำการเบิกจ่ายเงินต่อไป หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ให้ผู้ประกอบการดำเนินให้ถูกต้องต่อไป ซึ่ง จ. ปัตตานี มีการส่งมอบโคครบทุกกลุ่มแล้ว จำนวน 16 กลุ่ม จากที่ได้รับรายงาน มีการแก้ไข 2 กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่ง ขอเปลี่ยนแม่โค จำนวน 20 ตัว และอีกกลุ่มหนึ่ง ขอยกเลิกสัญญา ส่วนในกลุ่มอื่นๆ กำลังทำการขยายผลและตรวจสอบอย่างละเอียด
โฆษกกระทรวงเกษตรฯ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่กลุ่มเกษตรกรมีความประสงค์ขอเปลี่ยนตัวสัตว์ตามเงื่อนไขข้อกำหนดของโครงการ กรมปศุสัตว์ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการเปลี่ยนตัวสัตว์ให้ใหม่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นสั่งการให้ดูแลด้านสุขภาพ ให้ยาบำรุงและสนับสนุนพืชอาหารสัตว์แก่เกษตกรที่ได้รับผลกระทบ และเร่งฟื้นฟูสุขภาพแม่โคเนื้อตามหลักวิชาการ ให้วิตามิน และอาหารเสริมแก่แม่โคพื้นเมืองเพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์โดยเร็ว
“นอกจากนี้สั่งการให้กรมปศุสัตว์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เพื่อทำงานควบคู่กับทางคณะกรรมการตรวจสอบของ ศอ.บต. โดยบูรณาการทำงานร่วมกัน ดังนั้นขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า รัฐบาลในยุคของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะปราบปรามปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การนำของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ดร.ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน พร้อมช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร หากตรวจพบการทุจริตเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือข้าราชการ จะดำเนินการเอาผิดอย่างถึงที่สุด”
ทั้งนี้ การส่งมอบโคแก่เกษตรกรในโครงการโคบาลชายแดนใต้ ภาครัฐร่วมกับเอกชน ได้ส่งมอบโคแก่เกษตรกรใน จ.ปัตตานี 800 ตัว เมื่อเดือนพฤศจิกายน จ.นราธิวาส เมื่อเดือนธันวาคม จำนวน 800 ตัว และ จ.สตูล 400 ตัว สำหรับ จ.สงขลา และ ยะลา ยังไม่มีการจัดส่งวัว ณ เวลานี้มีการเบิกจ่ายสินเชื่อกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 37,601,700 บาท คิดเป็นร้อยละ 40.43 และมีวัวที่รับมอบเป็นผลผลิตทางโครงการให้ลูกแก่เกษตรกรจำนวนหลายตัวแล้ว