บึงกาฬ -ปิดถนนไม่ให้รถบรรทุกทรายวิ่งผ่านเหตุไม่จ่ายค่าผ่านทางปีละ 2.2 แสนบาท
บึงกาฬ -ปิดถนนไม่ให้รถบรรทุกทรายวิ่งผ่านเหตุไม่จ่ายค่าผ่านทางปีละ 2.2 แสนบาท
ผู้ใหญ่บ้านนำชาวบ้านกว่า 50 รายปิดถนนไม่ให้รถบรรทุกทรายวิ่งออกจากหมู่บ้าน อ้างไม่ทำตามมติหมู่บ้าน 14 ข้อเช่นไม่จ่ายค่าบำรุงหมู่บ้านปีละ 2.2 แสนบาท ทั้งนายอำเภอและผู้กำกับช่วยเจรจาตั้งแต่บ่าย 2 จนถึง 4 ทุ่มก็ไม่ยอม กฎชาวบ้านต้องใหญ่กว่ากฎหมาย ทั้งตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองเข้าตรึงกำลัง เกรงเกิดเหตุปะทะกันรุนแรง สุดท้ายฝ่ายรถทุกทรายยอมถอยรถไปเททรายทิ้ง พร้อมเข้าแจ้งความเอาผิดทั้งอาญาและแพ่ง
เช้าวันนี้( 17 ม.ค.) ที่ศาลาประชาคมบ้านเหล่าหลวง หมู่ที่ 3 ต.ดงบัง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ นายชัชวาลย์ ทองชน นายอำเภอบึงโขงหลง ได้นัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจข้อระเบียบกฎหมายให้กับชาวบ้านเหล่าหลวง และบ้านเหล่าดอกไม้ หมู่ที่ 9 ได้เข้าใจและรับทราบกรณีชาวบ้านพร้อมผู้นำชุมชนได้ปิดกั้นถนนในหมู่บ้านเพื่อไม่ให้รถบรรทุกพ่วงขนทรายวิ่งผ่านออกจากท่าทรายกัญญ์ชิสา โดยมี พ.ต.อ.สมชาย นิลเพ็ชร ผกก.สภ.เหล่าหลวง และนายประสิทธิ์ชัย ประจักษ์โก นายกฯ อบต.ดงบัง พร้อมด้วยส่วนเกี่ยวข้องร่วมชี้แจงข้อกฎหมายในครั้งนี้ด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการทำผิดระเบียบกฎหมาย
โดยนายประสิทธิ์ชัย ประจักษ์โก นายกฯ อบต.ดงบัง ได้ชี้แจงเป็นคนแรกว่า การจัดทำประชาคม รับฟังความคิดเห็นเป็นอำนาจหน้าที่ของ อบต.ดงบัง ตามมติที่ประชุม อพด. คราวประชุมวันที่ 13 กันยายน 2566 และแนวทางปฏิบัติของกระทรวงมหาดไทยและ อบต.ดงบัง ได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งการปฏิบัติผ่านมาหลายปี ทาง อบต.หรือ อปท.ในมอบอำนาจให้ผู้นำท้องที่หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนทำหน้าที่จัดทำประชาคมหมู่บ้าน และก็ถือปฏิบัติกันมาแบบผิดๆ ทางท่านผู้ว่าขณะนั้น คือนายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ จึงให้กลับไปทำประชาคมใหม่ให้ถูกต้องตามระเบียบ จึงนำเรื่องเข้า อพด.หรือคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายระดับจังหวัด
นายชัชวาลย์ ทองชน นายอำเภอบึงโขงหลง ชี้แจงว่าการจัดทำประชาคมเป็นการแสดงความคิดเห็นประชาชน เช่น ด้านความเดือดร้อน ผลกระทบฯ ไม่ใช่มติอนุญาตหรือไม่อนุญาตดูดทราย เป็นการแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาเห็นชอบของสภา อบต.ดงบัง และประกอบการพิจารณาของ อพด.จ.บึงกาฬ เท่านั้น ส่วนกฎหมู่บ้านหรือมติที่ประชุมบ้านเหล่าหลวง ที่ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านตั้งขึ้นมาจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายอื่น
ส่วน พ.ต.อ.สมชาย นิลเพ็ชร ผกก.สภ.เหล่าหลวง ชี้แจงว่าการปิดถนน ปิดกั้นเส้นทางสาธารณะขอชาวบ้าน เพื่อไม่ให้รถบรรทุกทรายวิ่งผ่าน ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ผ่านมา เป็นการกระทำผิดกฎหมาย
โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณบ่าย 2 โมงเมื่อวานผ่านมา นายศุภกิตติ์ ลุนอุบล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ได้นำลูกบ้านประมาณ 50 คน ซึ่งอ้างว่าเป็นชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอยู่ริมถนนที่รถบรรทุกหิน-ทรายวิ่งผ่านได้รับผลกระทบทั้งเสียงดังระบบกวนและฝุ่นละออง ทำให้ไม่มีความปลอดภัยในสุขภาพ จึงเชิญผู้ประกอบการท่าทรายทั้ง 7 ท่ามาร่วมประชุมรับฝังความคิดเหตุและข้อเสนอแนะกฎระเบียบกติกาของหมู่บ้าน ซึ่งตั้งขึ้นไว้ 14 ข้อ เช่นผู้ประการท่าทรายต้องจัดให้มีรถบรรทุกน้ำมารถถนนทุกวันและทุกครั้งที่ถนนแห้งเกิดฝุ่นละออง ต้องจ่ายค่าซ่อมถนนชำรุดและลอกท่อระบายน้ำอุดตันจากทรายครั้งละ 20,000 บาท ต้องจ่ายค่าทำศพชาวบ้านศพละ 1,000 บาทและจ่ายล่วงหน้า 10 ศพหรือ 10,000 บาท ต้องจ่ายให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมลภาวะรายละ 5,000 บาท ต่อ 1 ฤดูการดูดหินทราย และต้องจ่ายค่าบำรุงหมู่บ้านปีละ 220,000 บาทต่อปี
แหล่งข่าวกล่าวว่า ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการท่าทรายได้ร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬให้หามาตรการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือความเดือดร้อนดังกล่าวข้างต้น เพราะประชาคมหมู่บ้านเข้าใจว่าตนเองมีอำนาจจะอนุญาตให้ดูดทรายได้หรือไม่ได้ รวมทั้งการต่อใบอนุญาตตามมาตรา 9 อีกอย่างการคิดคำนวณภาษีค่าดูดทรายแต่ละ อปท.ก็ไม่เท่ากัน บางแห่งก็เก็บปีละ 100,000 บาท บางที่ก็เก็บปีละ 2-400,000 บาท จึงเป็นที่มาแนวทางปฏิบัติของกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อปท.ในการจัดทำประชาคมรับฝังความคิดเห็นของชาวบ้านก่อนเสนอเข้า อพด.จังหวัด และการคำนวณเก็บภาษีก็ให้คิดตามปริมาณใบอนุญาตสัมปทานความกว้าง-ยาว ที่ได้รับอนุญาตไปแล้วเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ที่ชาวบ้านปิดถนนไม่ให้รถบรรทุกทรายวิ่งออกจากหมู่บ้านในครั้งนี้นั้น เป็นเพราะว่า ผู้ประกอบการท่าทรายไม่ยอมจ่ายเงินบำรุงเข้าหมู่บ้านปีละ 220,000 บาท เพราะประชาคมหมู่บ้านไม่มีอำนาจในการจะอนุญาตให้ดูดทรายได้หรือไม่ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ อบต.รวมทั้งการซ่อมแซมถนนที่ชำรุดก็เป็นหน้าที่ของเจ้าของถนน เช่นทางหลวงชนบท และ อบต.ที่จะเป็นคนตั้งงบมาซ่อมแซมเอง ไม่ใช่ผู้ประกอบการหรือชาวบ้านซ่อมได้ ที่ผ่านทุกปียอมจ่ายกระเพราะกลัวชาวบ้านไม่อนุญาตให้ดูดทรายได้ แต่การปิดถนนครั้งนี้มีทั้งตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองมาเฝ้าระวังสถานการณ์เกรงจะเกิดเหตุร้ายขึ้น การเจรจาต่อรองตั้งบ่าย 2 โมง จนถึงเวลา 4 ทุ่มฝ่ายรถบรรทุกจึงยอมถอยรถไปเททรายทิ้งไว้ข้างวัด ชาวบ้านจึงยอมให้ขับรถเปล่ากลับบ้านไปได้ แต่ก่อนกลับบ้านผู้ขับรถบรรทุกพร้อมทนายก็ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.เหล่าหลวง เพื่อดำเนินคดีทั้งอาญาและแพ่งต่อชาวบ้านที่มาปิดถนน ก่อนกลับก็บ่นกันอุบว่าผู้ประการท่าทรายไม่ปฏิบัติตามกฎที่ตั้งขึ้น แทนที่จะไปเล่นงานเจ้าของท่าทรายกลับพากันมาปิดถนนไม่ให้รถบรรทุกวิ่งก็เป็นลูกค้ามาซื้อทราย ซึ่งเป็นปลายเหตุ
ข่าว/ภาพ ณฐพรหม อิทธิพัทธ์พล