บอร์ดมรดกภูมิปัญญาฯ ICH รับทราบความคืบหน้าการเสนอผ้าขาวม้า-รายการมรดกร่วม เคบายา (Kebaya) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก
บอร์ดมรดกภูมิปัญญาฯ ICH รับทราบความคืบหน้าการเสนอผ้าขาวม้า-รายการมรดกร่วม เคบายา (Kebaya) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก พร้อมเห็นชอบ ๑๘ รายการ เพื่อประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ระดับชาติ ประจำปี ๒๕๖๖
(เมื่อวันที่ ๑๔ ธ.ค. ๖๖ ณ ห้องประชุมสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ประธานกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ ว่า ที่ประชุมรับทราบ ความคืบหน้าการเสนอ การเสนอผ้าขาวม้า : ผ้าอเนกประสงค์ในวิถีชีวิตไทย และรายการมรดกร่วม เคบายา (Kebaya) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ต่อองค์การยูเนสโก ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบ ให้เสนอทั้ง ๒ รายการ ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการเสนอเอกสารต่อองค์การยูเนสโกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งรายการ เคบายา รายการที่เสนอร่วมกับสหพันธรัฐมาเลเซีย เนการาบรูไน
ดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี วันที่ ๒-๗ ธันวาคม ๒๕๖๗ รายการต้มยำกุ้ง กับ เคบายา จะเข้ารับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นรายการต่อไป
นายเสริมศักดิ์ เปิดเผยต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ICH ครั้งนี้ ยังได้ทราบถึง ผลการประเมินเอกสารขอขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year Festival)” ที่องค์การยูเนสโก ได้ประกาศรับรองเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ สาธารณรัฐบอตสวานา นั้น ได้รับการชื่นชมจากคณะผู้ประเมิน (Evaluation Body) โดยชมเชยว่า ได้มีการจัดเตรียมข้อมูลเป็นอย่างดี ในการให้ชุมชน กลุ่มบุคคล และปัจเจกบุคคที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมอย่างชัดเจน ในกระบวนการเสนอขอขึ้นทะเบียนโดยรวม และยังชมเชยเพิ่มเติมต่อรัฐภาคีที่เน้นย้ำถึงภัยคุกคามและเสนอมาตรการปกป้องเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งคณะผู้ประเมินได้ให้ความเห็นว่าเอกสารของไทยเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดี (good examples) สำหรับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในแง่ลักษณะเฉพาะ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity – Specific Aspects) ที่แสดงถึงความชัดเจนและโปร่งใสเกี่ยวกับภัยคุกคามต่าง ๆ เผชิญอยู่ และแสดงให้เห็นว่ารัฐภาคีวางแผนที่จะจัดการกับภัยคุกคามเหล่านี้อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการจัดทำบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ดีพร้อมแนวทางการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันที่ชัดเจน อีกด้วย
และที่ประชุมยังเห็นชอบ การประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ระดับชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๖ จากการเสนอของคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการฯ ประจำจังหวัด และผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองตามลักษณะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม แล้ว ดังนี้ ประเภทรายการที่เสี่ยงต่อการสูญหายต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย -ด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ได้แก่ ภาษาโส้ -ด้านศิลปะการแสดง ได้แก่ ตุ๊บเก่ง โนราควน ด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ ผ้ามุกนครพนม ขุดเรือยาว ผ้าทอใยกัญชงม้ง ประเภทรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย ด้านศิลปะการแสดง เพลงพวงมาลัย ด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล ได้แก่ ชุดไทยพระราชนิยม ประเพณีแห่พระศรีอริยเมตไตรย วัดไลย์ งานปีผีมด ประเพณีลอยเรืออูรักลาโว้ย ประเพณีจุดไฟตูมกา ออกพรรษายโสธร ด้านความรู้ละการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ได้แก่ ข้าวแคบ ข้าวหมูแดงนครปฐม แกงหัวตาล ด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ ปลาตะเพียนใบลาน เครื่องถมนคร ด้านการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ได้แก่ ว่าวแอก โดยทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเผยแพร่คุณค่าสาระความสำคัญ รวมทั้งให้การส่งเสริมสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการดำรงรักษาต่อไป
นายเสริมศักดิ์ ยังเปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ให้ความเห็น กรณีบริษัทผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ชื่อ “มวยไทย” ไปเป็นเครื่องหมายเพื่อการค้า การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์กีฬามวยไทยซึ่งกำลังจะเสนอให้เป็นกีฬาในมหกรรมกีฬาโอลิมปิค และเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีของกีฬามวยไทยในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเสนอต่อยูเนสโก โดยที่ประชุมได้เห็นชอบ แนวทางการดำเนินการเพื่อป้องกันการกระทำที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายในอนาคต คือ ๑) ขอความร่วมมือในการระงับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.๒๕๕๙ มาตรา ๒๒ และ มาตรา ๒๕ เมื่อมีเรื่องร้องเรียนหรือเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมอันเป็นกระแสที่ประชาชนให้ความสนใจ 2) หากผู้ประกอบการยังไม่ดำเนินการตามคำแนะนำในข้อ ๑ ให้เชิญมาประชุมหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขและหาข้อยุติ และ ๓) หากยังไม่สามารถดำเนินการระงับยับยั้งได้ให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มาตรา ๒๔ ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังให้ความเห็น การเตรียมเสนอรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่อยูเนสโก ในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ให้ดำเนินการศึกษาจัดทำข้อมูล ประกอบด้วย รายการชุดไทยพระราชนิยม รายการลอยกระทง และรายการมวยไทย ตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเสนอ เพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี ในการนำเสนอให้ยูเนสโก พิจารณาภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ อีกด้วย
เจนกิจ นัดไธสง รายงาน