24/11/2024

“อลงกรณ์“จับมือสภาอุตสาหกรรมฯ.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)เดินหน้าโครงการเรือธง“สาหร่าย-พืชแห่งอนาคต” มุ่งเป้าสร้างรายได้ประชาชนทดแทนนำเข้าตอบโจทย์ลดโลกร้อน

“อลงกรณ์“จับมือสภาอุตสาหกรรมฯ.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)เดินหน้าโครงการเรือธง“สาหร่าย-พืชแห่งอนาคต” มุ่งเป้าสร้างรายได้ประชาชนทดแทนนำเข้าตอบโจทย์ลดโลกร้อน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท เปิดเผยวันนี้(20 ธ.ค.)ว่า มูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท (WCF : Worldview Climate Foundation) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)โดยการนำของ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ได้จัดทำบันทึกความร่วมมือ (MoU) ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับ มูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท ในการพัฒนาสาหร่ายรวมถึงพืชน้ำและพืชชายฝั่งอื่นในประเทศไทย เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เนื่องด้วยประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาว 3,148 กม. มีป่าชายเลนไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านไร่ และมีประชากรในจังหวัดชายฝั่งทะเล ประมาณ 26 ล้านคน มีศักยภาพใน การพัฒนาสาหร่ายให้เป็นโครงการเรือธง(flagship project)ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน(Blue Economy)โดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการพัฒนาสาหร่ายให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สร้างงานสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน ยกระดับอัพเกรดภาคเกษตรของไทยสู่เกษตรมูลค่าสูงและลดการนำเข้าสาหร่ายจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการขาดดุลการค้าและเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้ในระยะยาว เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง มุ่งสนับสนุนส่งเสริมการผลิตและแปรรูปสาหร่ายทะเลเป็นพืชแห่งอนาคตตัวใหม่

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน การผลิตสาหร่ายทะเลเติบโตอย่างรวดเร็ว มีผลผลิตทั้งหมดทั่วโลกไม่น้อยกว่า 35 ล้านตัน มีมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท นอกจากสาหร่ายจะเป็นซูเปอร์ฟู้ดที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์สูง ยังมีสรรพคุณในการนำไปสกัดเพื่อใช้ผลิตอาหารเสริม อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ ปุ๋ย พลาสติกชีวภาพสำหรับบรรจุภัณฑ์ กระดาษ สิ่งทอ สารกระตุ้นทางชีวภาพ (bio stimulants) และเชื้อเพลิงชีวภาพ
ยิ่งกว่านั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมสาหร่ายยังมีส่วนสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065
รวมทั้งตอบโจทย์วาระเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน (Sustainable Ocean Economy) เพื่อเป็นส่วนร่วมในทศวรรษวิทยาศาสตร์มหาสมุทรแห่งสหประชาชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (พ.ศ. 2564-พ.ศ. 2573) และการลดภาวะโลกร้อนจากผลกระทบของก๊าซเรือนกระจกภายใต้

“ถือเป็นความร่วมมือที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน(blue economy)ในการใช้ทรัพยากรในทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การยกระดับคุณภาพชีวิต และการมีงานทำในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสุขภาพของระบบนิเวศน์ในมหาสมุทร
รวมถึงผลประโยชน์ด้านอื่นๆเช่น การกักเก็บคาร์บอน การปกป้องชายฝั่ง คุณค่าทางวัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ

ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ มูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท จะร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานที่ประกอบไปด้วยทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในครั้งนี้ให้เกิดผลสำเร็จ ผ่านการทำโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของความร่วมมือ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป”นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด.

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป