23/09/2024

กาฬสินธุ์เดือดร้อนหนักฝูงนกอาละวาดจับกินกุ้งก้ามกรามผูกริบบิ้นผ้าขับไล่

กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ในอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากสาเหตุศัตรูกุ้งคือฝูงนกกระยางนาและฝูงนกเป็ดน้ำอาละวาด โฉบลงจับกินกุ้งก้ามกรามในบ่อ ที่กำลังเจริญเติบโตพร้อมจับจำหน่ายในเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ ระบุในฤดูแล้งนี้สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงคิดหาวิธีป้องกันโดยใช้ภูมิปัญญา นำริบบิ้น และผ้าสีแดง สีส้ม มาผูกติดกันเป็นราวล้อมรอบบ่อเลี้ยงกุ้ง ปรากฏว่าได้ผลน่าทึ่ง ไม่ผิดกฎหมายเหมือนการใช้อาวุธยิง ฆ่า ทำลาย เพราะนกเหล่านี้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

วันที่ 19 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม สัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของ จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงเตรียมความพร้อมจับจำหน่ายในเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งทุกปีที่ผ่านจะพบว่ากลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งต่างมีรอยยิ้ม มีความหวังที่จะจับกุ้งจำหน่าย มีรายได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากกุ้งจะจับจำหน่าย ค้าขายคล่องตัวดีและคึกคึกเพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้น คือเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ เม็ดเงินสะพัดกว่า 100 ล้านบาท แต่ในช่วงนี้กลับพบว่าชาวนากุ้งหลายรายมีความเครียด ยิ้มไม่ออก เพราะเกิดปัญหาศัตรูกุ้งระบาดอย่างหนัก


นายธนภัทร ภูดอนนาง อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 329 หมู่ 19 บ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นทั้งผู้เลี้ยงกุ้งและพ่อค้าคนกลางจำหน่ายกุ้ง กล่าวว่า ปัญหาศัตรูกุ้งระบาดอย่างหนักดังกล่าว ตัวปัญหาคือนกกระยางนาและนกเป็ดน้ำ ซึ่งจะบินจับกลุ่มกันมาเป็นฝูง แล้วแอบลงจับกินกุ้งในบ่อเป็นอาหาร จากการสังเกตพบว่านกกระยางนาจะจับกุ้งกินในเวลากลางวัน และส่วนใหญ่นกเป็ดน้ำจะจับกุ้งกินในเวลากลางคืน ซึ่งนกแต่ละตัวจะจับกุ้งกินครั้งละ 10-20 ตัว กินทุกวันทุกคืน กุ้งในบ่อก็สูญหายวันละหลายตัวหลายกิโลฯ จากที่ปล่อยกุ้งเลี้ยงบ่อละ 50,000-100,000 ตัว พอถูกนกกินแล้วสำรวจจำนวนกุ้งในบ่อ เพื่อประเมินจำนวนก่อนขายปีใหม่ ก็เข่าอ่อน ตกใจ เสียดาย เสียใจ บางบ่อแทบไม่เหลือกุ้งให้จับ เพราะถูกนกกินหมด


นายธนภัทรกล่าวอีกว่า สำหรับนกกระยางนา และนกเป็ดน้ำที่เป็นศัตรูกินกุ้งดังกล่าว เป็นนกอพยพจากต่างถิ่น มาปักหลักหากินในพื้นที่ใช้น้ำชลประทานลำปาว ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ตลอดปี มีหลายกลุ่ม และเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วงนี้ที่เป็นช่วงเริ่มต้นทำนาปรัง พื้นที่หากินน้อยลง เป้าหมายพื้นที่หากินของนกกระยางนาและนกเป็ดน้ำ จึงเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามได้รับความเดือดร้อน เพราะต้องคอยเฝ้ารักษาบ่อกุ้ง โดยขับไล่นกตลอดเวลา จนแทบจะไม่มีเวลาไปทำงานอย่างอื่น


“ทีแรกก็จุดประทัดไล่ ทำหุ่นไล่กา พอนานไปมันก็ชิน ไม่กลัว จึงคิดหาวิธีใหม่ โดยทดลองนำริบบิ้นสีแดง และเศษผ้าสีส้ม สีแดง มาผูกติดกันเป็นราว ซึ่งเป็นการใช้ภูมิปัญญา ปรากฏว่าได้ผล ป้องกันนกกระยางนาและนกเป็ดน้ำได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมนกทั้ง 2 ชนิดนี้จึงกลัวริบบิ้นผ้าสีส้ม สีแดง อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นว่าใช้ริบบิ้นผ้าล้อมรอบบ่อเลี้ยงกุ้งได้ผล จึงเกิดการเลียนแบบ มีผู้เลี้ยงกุ้งนำวิธีการนี้ไปใช้หลายราย ทุกวันนี้ เมื่อเข้ามาในเขตที่มีการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม จึงมองเห็นริ้วริบบิ้นและริบบิ้นผ้าสีส้ม สีแดง เต็มท้องทุ่ง สร้างสีสันให้กับบ่อเลี้ยงกุ้งได้เป็นอย่างดี ผลดีที่ตามมาก็คือทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งมีรอยยิ้ม เพราะจะมีกุ้งจับขายได้เงินช่วงปีใหม่ ไม่ถูกนกกระยางนาและนกเป็ดน้ำจับกินหมด ซึ่งเป็นการป้องกันนกที่เป็นศัตรูโดยใช้ภูมิปัญญา ไม่ต้องใช้อาวุธยิง ฆ่า ทำลาย นกทั้ง 2 ชนิดให้ผิดกฎหมาย เพราะนกกระยางนาและนกเป็ดน้ำเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง” นายธนภัทรกล่าวในที่สุด

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป