24/11/2024

กาฬสินธุ์ฮือฮานายอำเภอสาธิตมัดฟ่อนข้าวฟื้นฟูวิถีทำนาอีสานโบราณ

นายอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ไอเดียเก๋ ฟื้นฟูทำนาแบบวิถีอีสานโบราณทุกขั้นตอน เพื่อประหยัดทุนการผลิต ล่าสุดสาธิตการมัดฟ่อนข้าวด้วยต้นข้าวแทนการใช้ตอกมัดข้าว พร้อมนำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ 15 ตำบล ใช้มูลควายผสมน้ำทำลานสำหรับกองมัดข้าว และลงแขกตีข้าว ตั้งเป้าให้นำไปขยายผลในหมู่บ้าน ลดทุนทำนา สร้างความสามัคคีในชุมชน การเผยแพร่คลิปในโซเชียล สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นภาพที่หาดูได้ยาก และกำลังจะสูญหายไปหากไม่มีการอนุรักษ์ไว้

 


วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ของชาวนาใน จ.กาฬสินธุ์ 18 อำเภอ พบว่าได้ลงมือเก็บเกี่ยวกันมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ย.66 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่ทำนาข้าวเหนียวและข้าวเจ้า โดยส่วนมากจ้างรถเกี่ยวข้าว เริ่มต้นที่ราคาไร่ละ 600 บาท แต่ปัจจุบันปรับขึ้นราคาไร่ละ 900 บาทแล้ว โดยผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าวอ้างว่าระยะทางไกล และข้าวล้ม เก็บเกี่ยวยาก ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันมากกว่าเกี่ยวข้าวยืนต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้กับชาวนา รวมทุกขั้นตอนสูงขึ้นถึงไร่ละกว่า 5,000 บาท ขณะที่นายอำเภอยางตลาด ได้นำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ 15 ตำบล และกำลัง อส. ลงแขกตีข้าว บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก


นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า เนื่องจากต้นทุนการทำนาสูงขึ้นตามลำดับ เริ่มจากค่าน้ำมัน ค่าปุ๋ยเคมี ค่าแรงงาน ค่าเก็บเกี่ยว ค่าขนส่ง ขณะที่ราคาขายข้าวเปลือกยังต่ำ เฉลี่ยรายรับกับรายจ่ายแล้วไม่คุ้มทุน เพื่อเป็นการประหยัดทุนทำนา ในช่วงเริ่มต้นการเพาะปลูกข้าว ที่ผ่านมาจึงได้ใช้พื้นที่ว่างเปล่าหลังที่ว่าการอำเภอประมาณ 2 ไร่ จัดเป็นแปลงนาสาธิต ใช้พันธุ์ข้าวเหนียวเขาวงมาปักดำ แรงงานก็ได้จากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ อส.ลงแขกดำนากัน ใช้ปุ๋ยคอกบำรุง เพื่อลดการใช้สารเคมี ล่าสุดในช่วงเก็บเกี่ยวก็ร่วมกันลงแขกเกี่ยวข้าว จากนั้นช่วยกันมัดฟ่อนข้าว หาบฟ่อนข้าวไปกองรวมที่ลานข้าว


นายเอกรัตน์กล่าวอีกว่า สำหรับลานข้าวนั้น ก็ทำแบบอีสานโบราณ โดยปรับพื้นที่ประมาณ 1 งานให้ราบเรียบ จากนั้นนำมูลควายมาผสมกับน้ำเหมือนผสมปูนซีเมนต์ แล้วช่วยกันละเลงหรือทาให้ทั่วลาน ชาวบ้านเรียกว่า “ทาลาน” ผึ่งแดดให้แห้ง จากนั้นช่วยกันหาบฟ่อนข้าวมากองรวมกัน ซึ่งไม้ที่นำมาหาบฟ่อนนั้นทำจากไม้ไผ่ เรียกว่า “ไม้คันหลาว” โดยใช้มีดเหลาปลายทั้ง 2 ด้านให้เล็กแหลม เพื่อง่ายต่อการเสียบฟ่อนข้าว กระบวนการสุดท้ายก็คือการนวดข้าวหรือตีข้าว ซึ่งทุกขั้นตอนเป็นการทำแบบวิถีทำนาแบบอีสานโบราณ ที่เรียกว่า “ลงแขก” ทั้งลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกมัดข้าว ลงแขกหาบฟ่อนข้าว และลงแขกตีข้าว เสร็จแล้วร่วมรับประทานอาหารกันตามธรรมเนียม


นายเอกรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการลงแขกทำนาที่แปลงนาสาธิตดังกล่าว ซึ่งเป็นการทำนาแบบดั้งเดิมของชาวนาอีสาน เพื่อลดต้นทุนทำนา สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ปลูกจิตสำนึกให้ลูกหลานได้สืบสาน ให้รู้ว่าการทำนานั้นลำบากอย่างไร กว่าที่จะได้เมล็ดข้าวมาเป็นอาหาร หรือนำไปขายเพื่อเป็นทุนการศึกษา ทั้งนี้ ยังมีแนวทางที่จะขยายผลไปยังชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำไปต่อยอดแนวทางทำนาแบบประหยัด โดยเฉพาะชาวนาที่มีพื้นที่ทำนาไม่มาก หากหันกลับไปใช้วิธีการทำนาแบบอีสานโบราณ และทำนาดำ ก็จะลดรายจ่ายได้มาก นอกจากนี้ยังได้ผลผลิตข้าวปริมาณมากกว่าทำนาหว่านด้วย หากทำนาดำ สำหรับเมล็ดข้าวเปลือกที่ได้นี้ จะนำไปขยายพันธุ์ต่อ และแบ่งไปแจกจ่ายให้กับครัวเรือนเกษตร ที่ประสบภัยน้ำท่วมต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตามที่นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด ได้นำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ อส. ฟื้นฟูวิธีการทำนาแบบอีสานโบราณ ทั้งมีการสาธิตการมัดฟ่อนข้าวด้วยต้นข้าวแทนการใช้ตอกมัดข้าว การหาบฟ่อนข้าวด้วยไม้คันหลาว การใช้มูลควายทำลานข้าว และลงแขกตีข้าว พอมีการแชร์ออกไปในโลกโซเชียล จึงได้สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นภาพที่หาดูได้ยาก และกำลังจะสูญหายไปหากไม่มีการอนุรักษ์ไว้

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป