23/11/2024

กระบี่-รองผู้ว่าฯ กระบี่ เป็นประธานเชิญพวงมาลาพระราชทาน ไปวางที่หน้าหีบศพ นายหนังเคล้าน้อย “ศิลปินแห่งชาติ”

กระบี่-รองผู้ว่าฯ กระบี่ เป็นประธานเชิญพวงมาลาพระราชทาน ไปวางที่หน้าหีบศพ นายหนังเคล้าน้อย “ศิลปินแห่งชาติ”

 

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 ที่แหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านปักษ์ใต้ บ้านคลองเสียด หมู่ 6 ตำบลปกาศัย อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานพิธีเชิญพวงมาลาพระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปวางที่หน้าหีบศพ นายเคล้า โรจนเมธากุล จ.ภ.“ศิลปินแห่งชาติ ”สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง)

โดยมี นายเศวตฉัตร สุวรรณรัตน์ นายอำเภอเหนือคลอง นายโกมาต แป้นเกิด วัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยข้าราชการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนภรรยา บุตร ครอบครัว และลูกศิษย์ ร่วมพิธีด้วยความโศกเศร้าอาลัย


สำหรับนายเคล้า โรจนเมธากุล จ.ภ.“ศิลปินแห่งชาติ” สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง) พุทธศักราช 2555 ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2566 สิริอายุรวม 81 ปี นายเคล้า โรจนเมธากุล หรือ หนังเคล้าน้อย เกิดวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2485 ณ ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดาชื่อ ‘สีชุม’ มารดาชื่อ ‘เทียน’ มีพี่น้อง 8 คน สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาจากการศึกษานอกโรงเรียน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ สมรสกับนางฉลวย หรือ “โนราฉลวย” ศิลปินโนราแห่งจังหวัดกระบี่ มีบุตรและธิดารวมกัน 3 คน ท่านได้รับการฝึกฝนหนังตลุงจากหนังสีชุมผู้เป็นบิดา และหนังใหม่หรือปู่ใหม่เป็นครูหนังฝึกสอนให้เข้าใจการแสดงหนัง

รวมทั้งติดตามหนังสีชุมเดินทางไปแสดงหนังในท้องถิ่นต่าง ๆ บางครั้งแสดงหนังแทนบิดา ได้ฝึกฝนกับนายหนังคณะต่าง ๆ เมื่อมีประสบการณ์มากพอจึงประกอบพิธีครอบมือกับหนังจันทร์แก้ว บัวขวัญ จากนั้นก็ได้เล่นหนังตะลุงให้ครบสามวัด สามบ้านตามธรรมเนียมของหนังตะลุงใหญ่ หนังเคล้าน้อย เริ่มการแสดงเป็นอาชีพ เมื่อปี พ.ศ. 2502 และมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในช่วงปี 2507 -2521 หนังเคล้าน้อย มีความเป็นเลิศในการขับบทกลอนสดโดยไม่มีการร่างบทกลอนและเจรจารูปหนัง และเป็นยอดในการเชิดรูปหนัง เคยชนะในการแข่งขันเชิดรูปพระอิศวรทรงโค ของกรมประชาสัมพันธ์ เสน่ห์ของหนังเคล้าน้อย คือการนำเสนอนิยาย ที่สร้างความเพลิดเพลิน มีคติธรรมสอนใจ

นอกจากนี้ ยังมีตัวตลกประจำโรง คือ สีแก้ว และยอดทอง ที่เป็นที่ชื่นชอบและเป็นสัญลักษณ์ของหนังเคล้าน้อย ด้วยความสามารถในการแสดงหนังตะลุง จึงได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนังตะลุงชั้นครู มีผู้มาสมัครเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก ผลงานของนายหนังเคล้าน้อย เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ ทำให้ได้รับพระราชทานโล่ เข็มประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง) พุทธศักราช 2555 โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นเกียรติประวัติแก่ตนเอง ครอบครัวและวงการศิลปะการแสดงของภาคใต้
โดยทางครอบครัวได้มีกำหนดสวดพระอภิธรรมศพระหว่างวันที่ 6-8 ตุลาคม 2566 และพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2566

 

กระบี่///ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป