27/11/2024

ผู้ปกครองหวั่นวิตก อัดวิชาการหนัก ส่งผลเสียรุนแรงจริงหรือ?

ผู้ปกครองหวั่นวิตก อัดวิชาการหนัก ส่งผลเสียรุนแรงจริงหรือ?

 

สถาบัน แคร์โรลล์ เพรพ โดยนางพนิดา แคร์โรลล์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียน ฯ ได้ออกมาแสดงความวิตก ถึงสถานการณ์ของระบบการศึกษาไทย โดยระบุถึงสถานการณ์ในช่วงนี้ทำให้ทุกฝ่ายต้องกลับมาย้อนดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นในชีวิตเด็ก ที่สุดท้ายนำพาให้เขานำตัวเองเข้ามาอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่าเราจะป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างไรในฐานะผู้ใหญ่ พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก ผู้ที่เป็นสภาพแวดล้อมสำคัญของเด็ก

มนุษย์มีความต้องการจำเป็นอยู่ 3 อย่าง 1. ความเป็นอิสระ การได้ตัดสินใจด้วยตนเอง 2. ความรู้สึกว่าตนเองทำได้ 3.ความรู้สึกเป็นที่รักเป็นที่ยอมรับ
เมื่อไหร่ที่ความต้องการ 3 อย่างนี้ได้รับการดูแลตอบสนอง มนุษย์จะมีแรงกระตุ้นให้ทำสิ่งต่างๆ มีความสุขและทนทานต่อปัญหาทางจิตเวช (Deci, E.L. & Ryan, R.M.2000)

แต่ผู้ปกครองจำนวนน้อยนักที่จะตระหนักรู้ถึงความจริงข้อนี้

ทั้งนี้ คุณพนิดา แคร์โรลล์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนแคร์โรลล์ เพรพ กล่าวย้ำอีกว่า
พิมพ์เขียวของชีวิตเด็กเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่วัยอนุบาล โดยพัฒนาตั้งแต่แรกเกิดผ่านการเลี้ยงดู การตอบสนองของพ่อแม่ พ่อแม่จึงเหมือนสถาปนิกสร้างมนุษย์
ถ้าพ่อแม่มีความรู้ความเข้าใจและใส่ใจที่จะออกแบบก่อสร้างตามหลักของความปลอดภัย เด็กๆ เหล่านี้ก็จะตั้งอยู่บนรากฐานที่มั่นคง
แต่บ่อยครั้งความเข้าใจยังน้อย บางครั้งเข้าใจแล้ว แต่การสร้างตามหลักมาตรฐานมันยาก มันไม่ใช่แบบที่คุ้นเคยเลยไม่อยากทำ และบางครั้งความรู้สึกไม่มั่นคงในตนเองของพ่อแม่ สุขภาพจิต ความเหนื่อยล้าที่เกิดจากการไม่ดูแลตนเองของพ่อแม่ก็เข้ามาขัดขวาง
บางครอบครัวเป็นครอบครัวใหญ่ พ่อแม่ไม่มีอำนาจในการควบคุม จะเห็นว่ามีอุปสรรคเกิดขึ้นได้นับไม่ถ้วน ดังนั้นไม่ใช่แค่พ่อแม่เท่านั้น สังคมเองก็ต้องทำความเข้าใจและร่วมสนับสนุนเกี่ยวกับการดูแลเลี้ยงดูเด็กในประเทศด้วย

หลายคนสงสัยว่ามันส่งผลรุนแรงได้ขนาดนั้นจริงหรือ? คงระบุไม่ได้ชัดเจน แต่ถ้ามองในมุมทฤษฎีความต้องการจำเป็นของมนุษย์ที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อพ่อแม่บังคับให้เด็กต้องทำสิ่งที่ไม่สมวัย ความจำเป็นข้อแรก คือ ความเป็นอิสระ การได้เลือกตัดสินใจด้วยตนเอง มักไม่ได้รับการตอบสนองแล้ว 1 อย่าง และเมื่อเด็กไม่ได้เลือกเอง ไม่ได้อิสระ สิ่งที่โดนบังคับทำก็ไม่ได้มาจากแรงผลักดันภายใน หมายความว่าพ่อแม่ก็จะต้องบังคับให้เรียนไปตลอด การที่เราไม่ได้ทำสิ่งที่ตนเองสนใจ ส่วนใหญ่มักทำออกมาได้ไม่ดีหรอกค่ะ ซึ่งก็เลยตามมาด้วยข้อ 2 ความรู้สึกว่าตนเองทำได้ มีความสามารถ ก็ไม่เกิดขึ้นอีก และข้อ 3 ก็จะตามมาติดๆ เวลาที่เด็กต้องทะเลาะกับพ่อแม่เรื่องการบ้าน เรื่องเรียน เกิดความขัดแย้ง เด็กรู้สึกเหมือนว่าถ้าตัวเองไม่เก่ง ก็ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่เป็นที่รัก ดังนั้นเรื่องนี้เรื่องเดียวสามารถที่จะขัดขวางความต้องการจำเป็นของมนุษย์ได้ครบทั้ง 3 อย่างเลยค่ะ


นอกจากนั้นเวลาที่พ่อแม่สุดโต่งพัฒนาในด้านใดด้านหนึ่ง สิ่งนั้นมักจะกินเวลาของการพัฒนาทักษะอื่น เช่น ถ้ามัวแต่เรียนอย่างเดียว ก็ไม่ได้พัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญมากในการอยู่ในโลกใบนี้อย่างมีความสุข ชีวิตคนเราไม่ใช่ว่าต้องราบรื่นและมีความสุขตลอดเวลา แต่เวลาที่เราทุกข์ เรามีคนรับฟังไหม มีเพื่อนที่จะเป็นกำลังใจให้เราไหม ตรงนี้จะพาให้เราผ่านเวลายากลำบากไปได้

แต่ถ้าความสัมพันธ์ของเด็กกับพ่อแม่ไม่ดี อาจจะเพราะความหวังดีต่อลูกทำให้พ่อแม่ต้องบังคับเคี่ยวเข็ญหลายอย่าง หรือบางครั้งก็รักมากจนปกป้องมากเกินไปจนเด็กไม่ได้มีโอกาสทำอะไรเพื่อตนเอง (ทำให้ข้อ 2 ความรู้สึกว่าตนเองทำได้ไม่เกิดขึ้น) เด็กก็จะไม่รู้ว่าจะสร้างสัมพันธ์ดีๆ กับคนอื่นอย่างไร เขาไม่มีแบบ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าพ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ไม่เหมาะสม ใช้ความรุนแรง เด็กก็อาจนำไปใช้กับเพื่อน ความสัมพันธ์ก็เกิดขึ้นไม่ได้

“โรงเรียนก็มีบทบาทสำคัญเหมือนกัน”

เด็กมีอิสระมากแค่ไหนในโรงเรียน? มีเด็กมากแค่ไหนที่รู้สึกว่าตัวเองมีบทบาทสำคัญ? เด็กได้รับการยอมรับไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตามไหม? หรือเราสนใจแต่เด็กเก่งๆ และแทบไม่มีพื้นที่ให้เด็กแบบอื่นเลย


บางครั้งโรงเรียนก็รับอิทธิพลมาจากผู้ปกครองมากจนลืมความต้องการของเด็ก ส่วนตัวมองว่ามันมาจากการที่เราทำอาชีพ ทำธุรกิจ ด้วยแรงจูงใจ(Motivation)ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัญหาของแรงงานเกือบทั้งประเทศ เราถูกเลี้ยงมาแบบให้คุณค่าเรื่องเงินเป็นหลัก ปัญหาคือ เมื่อแรงจูงใจ (Motivation) มันมาแบบผิดๆ ความพยายามมันก็ไปลงผิดจุด ผลประโยชน์จึงไม่ได้ไปที่เด็ก แต่อาจจะไปที่ความพึงพอใจ ความสบายใจของผู้ปกครอง ของความต้องการของตลาด


แคร์โรลล์ เพรพ เป็นโรงเรียนที่สร้างมาเพื่อลูกของเรา และสิ่งที่เราใส่ใจที่สุดคือการพัฒนาด้านตัวตน อารมณ์ และสังคมของเด็ก ให้อิสระเขาให้มากที่สุดแต่ยังสนับสนุนวินัยตามวัย และเราก็พบว่า เด็กมีแรงจูงใจด้วยตัวเองได้จริงๆ เด็กสามารถบอกเราได้ว่า อยากเรียนภาษาจีนเพิ่ม เหตุผลเพราะอะไร แล้วที่เราต้องทำคือการตอบสนองความต้องการ การตัดสินใจนั้นของเด็ก ถึงแม้บางครั้งจะล้มเหลว ก็ต้องให้เด็กได้เผชิญกับมัน

แน่นอนว่าไม่ง่ายเลยที่จะสนับสนุนเด็กขนาดนี้ บุคลากรในประเทศส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจ และแน่นอนผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็เช่นกัน เราจึงต้องฝึกบุคลากรใหม่หมด และให้ความรู้ผู้ปกครองไปพร้อมๆกัน

“พ่อแม่ควรต้องทำอย่างไรต่อไป?”

ทำความเข้าใจตัวเอง ตระหนักรู้ในตนเองก่อนค่ะ ใช้เวลา 15 นาทีเช้าเย็นทุกวัน คิด ว่าวันนี้เราทำอะไรไปบ้าง เรารู้สึกอะไรบ้าง เรากำลังกังวลอะไร ทำไมเราถึงเลือกทำสิ่งเหล่านั้น การดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ การนอนไม่พอก็ทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้เต็มศักยภาพ การไม่มีเวลาพัก สมองก็ไม่ได้จัดข้อมูล เหมือนกับการขึ้นเครื่องบินจริงๆ ที่เมื่อไหร่ที่มีปัญหาคุณต้องใส่หน้ากากออกซิเจนให้ตัวเองก่อน แล้วจึงจะช่วยเด็กข้างๆได้

มองสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ระบุว่าสิ่งที่ลูกกำลังทำคือปัญหาของใคร ของเราหรือของลูก ถ้าเป็นของลูก ให้อิสระลูกจัดการเอง พ่อแม่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา พยายามให้อิสระ ให้ตัวเลือกให้มากที่สุด สำหรับเด็กเล็กอิสระคงกว้างมากไม่ได้ สามารถเป็นในรูปแบบของการให้ตัวเลือก 2 แบบ เช่น จะนอนเลยทันที หรือจะฟังนิทานก่อนนอน ส่วนเรื่องการแต่งตัว การกิน จะกินเท่าไหร่ กินน้อยกินมาก ให้เด็กเลือกเองทั้งหมด นี่คือตัวอย่างของอิสระ

ให้โอกาสเด็กทำเอง ช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด งานไหนยากไป ช่วยแบ่งเป็นขั้นให้เด็กทำเองได้ รองเท้าต้องใส่ง่าย ใส่เองได้ เสื้อผ้า กางเกงถอดง่าย เพื่อจะได้ถอดเข้าห้องน้ำเองได้ การเรียนก็ต้องเรียนตามวัยให้เหมาะสม ไม่ยากเกินจนเด็กมองไม่เห็นทางสำเร็จ ถ้าจำเป็นต้องเรียนยาก ต้องมีกิจกรรมอื่นที่เด็กชอบและทำได้ดีทำประกบไปด้วยกัน เด็กต้องรู้สึกภูมิใจในตนเอง มีคุณค่า

ความรู้สึกเป็นที่รักและได้รับการยอมรับเป็นพื้นฐานที่น้อยที่สุดที่พ่อแม่ควรจะให้ได้ ความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข อาจแสดงออกด้วยการไม่ทำอะไรเลย เวลาที่ลูกเล่นของเล่นผิดประเภท เขียนผิดแต่ภูมิใจ การปล่อยให้เขาได้ทำโดยไม่เข้าไปสอนก็เป็นการแสดงการยอมรับอย่างหนึ่ง การรับฟังอย่างตั้งใจเวลาลูกมาเล่าสิ่งต่างๆโดยไม่ตอบสนองด้วยความตื่นตระหนก ไม่สั่งสอน ก็ช่วยให้เด็กรู้สึกสบายใจและอยากมาเล่าให้ฟังอยู่เรื่อยๆ เมื่อไหร่ที่เด็กยังเล่าให้เราฟัง เราก็ยังมีโอกาสให้คำปรึกษา

สุดท้ายอย่าลืมเรื่องการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม ทักษะนี้สำคัญมากและพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงวัยอนุบาล เมื่อเด็กรู้จักอารมณ์ เด็กจึงจะกำกับควบคุมมันได้ และนำมาซึ่งการตัดสินใจที่รับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีตลอดชีวิต
จะเห็นว่าเราไม่เจาะจง Hard Skills ใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และอื่นๆ เพราะเมื่อเด็กได้รับการตอบสนองความต้องการจำเป็นแล้ว เด็กมีทักษะทางอารมณ์และสังคมที่ดีแล้ว เด็กจะสามารถเรียนรู้อะไรก็ได้ที่ต้องการ ดังนั้นการนำ Hard Skills มาก่อนความต้องการจำเป็นของมนุษย์จึงเหมือนการดันก้นม้าให้ม้าเดินไปข้างหน้า ทั้งที่จริงๆถ้าม้าเห็นหญ้าสวยๆ น่ากินมันก็เดินไปกินเองอยู่แล้ว

สำหรับผู้สนใจข้อมูลของแคร์โรลล์ เพรพ สามารถดูข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.carrollprep.ac.th หรือช่องทางเฟสบุ้ค Carroll Preparatory School

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป