20/09/2024

กาฬสินธุ์-เปิดตัวนักบริหารความยากจนแห่งแรกของประเทศ

กาฬสินธุ์-เปิดตัวนักบริหารความยากจนแห่งแรกของประเทศ
จังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดงานมหกรรมนวัตกรรมแก้จน ครั้งที่ 2 และแถลงข่าวเปิดตัวนักบริหารความยากจนเชิงพื้นที่ เป็นแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมลงนามความร่วมมือและบันทึกข้อตกลงการสั่งซื้อผลผลิต ตามโครงการวิจัยพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม
วันที่ 22 กันยายน 2566 ที่พิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ (หอศิลป์) ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า) นายสำเริง ม่วงสังข์ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน มหกรรมนวัตกรรมแก้จน จ.กาฬสินธุ์ ครั้งที่ 2 และการแถลงข่าวเปิดตัวนักบริหารความยากจนเชิงพื้นที่ (Area Research Manager) และการเป็นเจ้าของข้อมูล (Local Data Ownership) ภายใต้โครงการวิจัย โครงการพัฒนาและยกระดับแพลตฟอร์มการแก้ปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด แบบร่วมมือด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีและการขับเคลื่อนระบบข้อมูลในจ.กาฬสินธุ์ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และเครือข่ายความร่วมมือใน จ.กาฬสินธุ์ ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ การจัดงานมหกรรมนวัตกรรมแก้จนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 นี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และเป็นการพัฒนาคนทุ่งช่วงวัยในพื้นที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และเครือข่ายการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ภายในงานมีพิธีลงนามความร่วมมือและบันทึกข้อตกลงการสั่งซื้อผลผลิต ตามโครงการวิจัยพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาต่ำกว่าทุน บริการนวดแผนไทยและตัดผมฟรี การออกร้าน “ไข่หรรษา พาทำบุญ” ลุ้นรางวัลมากมาย การฝึกสอนอาชีพของกลุ่มอาชีพต่างๆ และการจัดแสดงบูธนิทรรศการจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้ดำเนินการโครงการวิจัยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยการดำเนินงานของโครงการได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนราชการ ภาคเอกชนและภาคีเครือข่าย ทำให้เกิดการพัฒนาการแก้ไขปัญหาความยากจนในมิติเชิงลึกเพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้การแก้ปัญหาความยากจนของ จ.กาฬสินธุ์มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า สิ่งที่ บพท. ได้เข้ามาส่งเสริมสนับคือระบบข้อมูลแบบบูรณาการ โดยให้ทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ร่วมกับศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน (ศจพ.) ในระดับจังหวัด ร่วมบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ เป็นการสร้างกลไกความร่วมมือ เป็นนวัตกรรมกระบวนการกับทุกภาคส่วนในจังหวัด และภายในปี 2570 จ. กาฬสินธุ์จะต้องยกระดับความยากจนจากที่อยู่ในระดับต่ำ จะต้องยกระดับให้ขึ้นไปอยู่ในระดับปานกลางของประเทศต่อไป ทั้งนี้ งานมหกรรมนวัตกรรมแก้จน ครั้งที่ 2 และแถลงข่าวเปิดตัวนักบริหารความยากจนเชิงพื้นที่ ที่จ.กาฬสินธุ์ โดยมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ร่วมกับศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน (ศจพ.) ในระดับจังหวัด ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป