เชียงใหม่-ท่าอากาศยานเชียงใหม่ จัดโครงการ AOT พี่อาสา กิจกรรม “First Aid ปลอดภัยเรื่องใกล้ตัว”
เชียงใหม่-ท่าอากาศยานเชียงใหม่ จัดโครงการ AOT พี่อาสา กิจกรรม “First Aid ปลอดภัยเรื่องใกล้ตัว”
วันที่ 20 กันยายน 2566 นายสรายุทธ จำปา รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดโครงการ AOT พี่อาสา กิจกรรม “First Aid ปลอดภัยเรื่องใกล้ตัว” ประจำปี 2566 ณ โรงเรียนบ้านโป่งน้อย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเจ้าหน้าที่จากส่วนการแพทย์ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ไปให้ความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยการทำ CPR รวมทั้งสอนวิธีการใช้งานเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ แก่นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติจริง โอกาสเดียวกันนี้รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ได้มอบชุดปฐมพยาบาลพร้อมยาสามัญประจำบ้านให้แก่โรงเรียนบ้านโป่งน้อย และมอบชุดทำแผลให้แก่นักเรียนที่ร่วมกิจกรรมทุกคนด้วย
ในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ส่วนการแพทย์และพนักงานท่าอากาศยานเชียงใหม่ ยังได้เดินทางไปให้ความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การช่วยฟื้นคืนชีพด้วยการทำ CPR และสอนวิธีการใช้งานเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ ให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาของโรงเรียนพิงครัตน์ ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ในเรื่องการแจ้งเหตุเมื่อพบผู้ป่วยฉุกเฉิน การช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น ได้รับประสบการณ์จากการได้ฝึกปฏิบัติจริง เกิดความกล้าและมั่นใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นโดยเฉพาะบุคคลในครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด
โครงการ AOT พี่อาสา เป็นหนึ่งในกิจกรรม CSR ระดับองค์กรของ ทอท.ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา โดยก่อนหน้านี้ได้นำพนักงานที่ปฏิบัติงานด้านการดับเพลิงและกู้ภัย ไปให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการดับเพลิงขั้นต้นแก่นักเรียนและประชาชนโดยรอบท่าอากาศยาน และในปีนี้ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเป็นการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล “First Aid ปลอดภัยเรื่องใกล้ตัว” เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว
ประกอบกับคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ที่เป็นอาคารสาธารณะ ต้องติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน และกำหนดให้การใช้เครื่อง AED เป็นการปฐมพยาบาล ที่ทุกคนสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ การให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นการช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรง การพิการ หรือเสียชีวิตลงได้