ตำรวจไซเบอร์ ชี้แจงความคืบหน้าคดีหลอกลงทุนข้ามชาติ Bchgloballtd.comนำมาสู่ปฏิบัติการ Trust No One จับกุมผู้ต้องหาชาวจีนหลายราย ยึดทรัพย์กว่า 2,000 ล้านบาท ผู้เสียหายเตรียมยื่นคุ้มครองสิทธิ
ตำรวจไซเบอร์ ชี้แจงความคืบหน้าคดีหลอกลงทุนข้ามชาติ Bchgloballtd.comนำมาสู่ปฏิบัติการ Trust No One จับกุมผู้ต้องหาชาวจีนหลายราย ยึดทรัพย์กว่า 2,000 ล้านบาท ผู้เสียหายเตรียมยื่นคุ้มครองสิทธิ
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอเรียนชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหลายรายที่ได้ร่วมกันหลอกลวงชักชวนผู้เสียหายหลายรายให้ร่วมลงทุนซื้อขายทองคำ เหรียญสกุลเงินดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์ม Bchgloballtd.com ดังต่อไปนี้
ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อประชาชนจากภัยหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุนในสินทรัพย์รูปแบบต่างๆ ซึ่งอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว โดยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง
เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบในด้านงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับไปยัง พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลหาความเชื่อมโยงในดดี มุ่งเน้นการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ ตรวจค้นยึดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
คดีดังกล่าวเมื่อระหว่างเดือน พ.ย.64 – เดือน ธ.ค.65 ได้มีผู้เสียหายหลายรายแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในหลายท้องที่ทั่วประเทศ ให้ดำเนินคดีกับคนร้ายที่ได้ร่วมกันหลอกลวงชักชวนผู้เสียหายให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหรียญสกุลเงินดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า BCHGLOBALLTD.COM ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ถูกคนร้ายสร้างปลอมขึ้นมา จากการสืบสวนพบว่าคนร้ายได้หลอกลวงให้ผู้เสียหายซื้อเงินสกุล USDT และให้ทำการโอนไปยังกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามที่ระบุ ก่อนที่จะถูกโอนต่อไปยังบัญชีแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายเงินสกุลดิจิทัล นอกจากนี้ยังพบว่ามีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับคดีอื่นๆ ในหลายท้องที่ บช.สอท. จึงได้ทำการประสานความร่วมมือกับสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ Homeland Security Investigation (HSI) และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระทั่งพิสูจน์ทราบตัวกลุ่มคนร้ายที่ร่วมกันกระทำความผิดในกรณีดังกล่าว
ต่อมาระหว่างเดือน พ.ค.66 – เดือน ส.ค.66 พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหา 5 ราย (สัญชาติจีน 4 ราย สัญชาติลาว 1 ราย) ในข้อหา “ ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ และร่วมกันฟอกเงิน ” โดยมีการเข้าตรวจค้น และจับกุมตัวผู้ต้องหา ภายใต้ปฏิบัติการ Trust No One จำนวน 4 ครั้ง ตรวจค้นกว่า 47 จุด ทั่วประเทศ ผลการปฏิบัติสามารถจับกุมผู้ต้องหาสัญชาติจีน 3 ราย ตรวจยึดของกลางหลายรายการมูลค่ารวมกว่า 2,000 ล้านบาท อาทิ รถยนต์หรู เอกสารสิทธิ์บ้านและคอนโด กระเป๋าแบรนด์เนม ทองคำ และเงินสด เป็นต้น กระทั่งเมื่อ 10 ส.ค.66 พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นไปยังอัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดได้มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย ตามความเห็นของพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 4 ก.ย.66 สำนักงาน ปงง.ได้มีคำสั่งยึดทรัพย์สิน รวม 15 รายการมูลค่ากว่า 585 ล้านบาท ส่วนทรัพย์สินที่ตรวจยึดได้จะมีการรวบรวมเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเชื่อว่ามีผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงในคดีลักษณะดังกล่าวรวมกว่า 3,280 ราย ความเสียหายรวมกว่า 2,780 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเริ่มประชาสัมพันธ์ให้ผู้เสียหายทราบเพื่อเตรียมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และขั้นตอนวิธีการมายื่นคุ้มครองสิทธิที่ บช.สอท. ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (18 ก.ย.66) ทั้งนี้ได้มีการประสานผู้เสียหายให้ทราบผ่านทางระบบการรับแจ้งความออนไลน์ และทางโทรศัพท์แล้วส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามการหลอกลวงชักชวนให้ลงทุนที่ผ่านมายังคงมีมูลค่าความเสียหายรวมสูงเป็นอันดับที่ 1 ของการหลอกลวงออนไลน์ทั้งหมด โดยมิจฉาชีพมักจะอาศัยความโลภของประชาชนเป็นเครื่องมือ ทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ประชาชนนำไปลงทุน บางรายเป็นเงินเก็บก้อนสุดท้ายของชีวิต หรือบางรายต้องเอาทรัพย์สินอื่นไปจำนองเพื่อให้ได้เงินมาลงทุน ถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ฝากเตือนไปยังมิจฉาชีพที่ยังคงหลอกลวงประชาชนในลักษณะดังกล่าว ในท้ายที่สุดก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีทุกราย ไม่มีละเว้น
ทั้งนี้ขอฝากเตือนประชาชนถึงแนวทางการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
1.ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ โดยการตรวจสอบว่าเป็นเว็บไซต์หรือช่องทางการลงทุนจริงหรือไม่ เปิดมานานเท่าใดแล้ว บริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือมักมีการลงทะเบียนโดเมนแบบไม่ระบุตัวตน หรือตรวจสอบตัวตนได้ยาก โดยสามารถตรวจสอบการจดทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ต่างๆ เช่น https://checkdomain.thaiware.com เป็นต้น
2.ระมัดระวังการชักชวนจากคนที่เพิ่งรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า หรือเป็นคนต่างชาติหน้าตาดี ที่เข้ามาตีสนิทแล้วชวนให้ลงทุนบนแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชันต่างประเทศ อ้างว่าลงทุนแล้วได้ผลกำไรสูง การันตีผลกำไรแน่นอน
3.มิจฉาชีพมักอ้างว่ารู้จักผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน โดยบุคคลที่มักนำรูปและชื่อมาแอบอ้างนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงหรือมีความรู้ด้านการลงทุน พร้อมสร้างเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกลวงเหยื่อ
5.ตรวจสอบแหล่งที่มาของรายได้บริษัทว่านำเงินจากไหนมาจ่ายให้ผู้ลงทุน
6.ตรวจสอบข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ว่าบริษัทมีการกล่าวถึงการหลอกลวงหรือไม่ มีความน่าเชื่อถือมากเพียงใด
7.ผลตอบแทนที่ได้รับมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ เช่น การันตีให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น รับประกันผลการตอบแทนการลงทุน
8.ไม่โอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของบุคคลธรรมดา เสี่ยงเป็นบัญชีของมิจฉาชีพหรือบัญชีม้ารับโอนเงิน
9.หลีกเลี่ยงการลงทุนหรือข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้ พึงระลึกไว้เสมอว่า “ ไม่มีสิ่งใดได้มาโดยง่าย โดยเฉพาะเรื่องเงิน ” และ “ การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ ”
10.ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ได้ที่ www.sec.or.th/seccheckfirst