03/01/2025

เชียงใหม่-แถลงสรุปกิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนา “แอ่วเหนือ ผ่อเวียง เล่าเรื่องบะเก่า”

S__62693393_0

สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 แถลงสรุปกิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนา “แอ่วเหนือ ผ่อเวียง เล่าเรื่องบะเก่า” ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้เกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ

วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นาย วีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงาน กิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนา“แอ่วเหนือ ผ่อเวียง เล่าเรื่องบะเก่า”ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประจำปีงบประมาณ 2566


พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยเอกสันติพงศ์ บุลยเลิศ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ นายธนกร สมฤทธิ์ บริษัท เกรท มอร์ โซลูชั่น จำกัด ผู้ดำเนินงาน ผู้แทนจากเส้นทางท่องเที่ยว 4 เส้นทาง ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่

นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภาคเหนือ รวมถึงประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีประเพณี ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมล้านนา เป็นอัตลักษณ์ที่ทรงคุณค่า เสน่ห์ที่โดดเด่น

สามารถเชื่อมโยงกันในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกลุ่มล้านนา ที่มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน หากได้มีการนำทุนทางสังคม วัฒนธรรมที่มีอยู่แล้วในแต่ละท้องถิ่น มาสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมอัตลักษณ์ล้านนา ให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูและสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่แพร่หลายสืบต่อไป จะเป็นสิ่งที่ดีมาก

กิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนา“แอ่วเหนือ ผ่อเวียง เล่าเรื่องบะเก่า” ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ที่ทางสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ได้ร่วมมือร่วมใจจัดขึ้น ทั้ง 4 เส้นทาง ตามที่ได้นำเสนอ  ถือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และให้กำลังใจ ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้ สามารถสร้างการรับรู้ การทดลองสัมผัสกับเส้นทางท่องเที่ยวจริงๆ และสามารถเผยแพร่ผ่านสื่อไปในวงกว้าง เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว และผู้สนใจ สามารถพัฒนาต่อยอด ให้เกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่มีศักยภาพต่อไปได้

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยว จริงที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้ ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม และต่อยอดจนเกิดเป็นการศึกษา เรียนรู้ แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ไปพร้อมๆกัน

ว่าที่ร้อยเอกสันติพงศ์ บุลยเลิศ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการจัดกิจกรรมสรุปผลการดำเนินการ กิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนา“แอ่วเหนือ ผ่อเวียง เล่าเรื่องบะเก่า” ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประจำปีงบประมาณ 2566 ดำเนินงานโดยสำนักงานการท่องเที่ยว และกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน ลำปางและแม่ฮ่องสอน

ได้มีการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ ศึกษาสำรวจ รวบรวมข้อมูล ด้านการท่องเที่ยวและความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ เพื่อจัดทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนา จำนวน 4 เส้นทาง


โดยการจัดเส้นทางต้องเชื่อมโยงกันไม่น้อยกว่า 2 จังหวัด ใน 1 เส้นทางประกอบการด้วย เส้นทางที่ 1 เส้นทางท่องเที่ยวแหล่งเครื่องปั้นดินเผาล้านนา เส้นทางที่ 2 เส้นทางตามรอยผ้าซิ่นตีนจกและผ้าไหมยกดอกเนื่องในวาระชาตกาล 150 ปีของเจ้าดารารัศมี พระราชชายาฯ เส้นทางที่ 3 เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยธรรมยาตราบารมีครูบาเจ้าศรีวิชัย


เส้นทางที่ 4 เส้นทางท่องเที่ยว ยุคก่อนประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งได้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นด้านการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว จำนวน 4 ครั้ง มีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการการท่องเที่ยว นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ผู้แทนด้านสถาบันการศึกษา มัคคุเทศก์ สื่อมวลชน และผู้สนใจ ครั้งละ 30 ท่าน

ดำเนินการจัดกิจกรรม FAM TRIP ประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนา จำนวนไม่น้อยกว่า 4 เส้นทางโดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชนในรูปแบบต่างๆ มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว รวมไม่น้อยกว่า 120 คน เส้นทางละ 30 คน กิจกรรมประชาสัมพันธ์ทั้งในรูปแบบ online และ offline เส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนา ซึ่งการดำเนินการได้ ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถนำไปต่อยอด ให้เกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ สร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไปได้

 

พัฒนชัย/เชียงใหม่

 

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป