23/12/2024

ร้อยเอ็ด…กระทรวงมหาดไทย นิเทศติดตามการขับเคลื่อนโครงการ “อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” และ “หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด

S__68345955

ร้อยเอ็ด…กระทรวงมหาดไทย นิเทศติดตามการขับเคลื่อนโครงการ “อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” และ “หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด

วันนี้(5 กรกฎาคม 2566) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมพระมหาเจดีย์ชัยมงคล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด นายประชา เตรัตน์ หัวหน้าคณะทำงานนิเทศฯ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นางสาวสิริมา วัฒโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ ลงพื้นที่นิเทศติดตามการขับเคลื่อนโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมี นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นำคณะผู้บริหารจังหวัด ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคีเครือข่าย โดยได้รับความเมตตาจาก พระครูวินัยธรธนบดี เจ้าอาวาสวัดเหนืออุดรชัยสิทธิ์ ภาคีเครือข่ายภาคศาสนา ร่วมให้การต้อนรับ และรายงานผลการดำเนินงาน

นายประชา เตรัตน์ หัวหน้าคณะทำงานนิเทศโครงการฯ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแนวทางในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย โดยน้อมนำแนวพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และประกาศเจตนารมณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่ได้ร่วมประกาศกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา”” ร่วมกับทุกจังหวัดขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง และน้อมนำแนวพระราชดำริด้านการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” แนวทางการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง (ครัวเรือน) มีการแบ่งพื้นที่เป็นหย่อมบ้าน กลุ่มบ้าน เพื่อดูแลสมาชิกในหมู่บ้าน รวมทั้งการส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ถ่ายทอดส่งต่อให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานเพื่อให้เกิดความรู้รักสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยมี “นายอำเภอ” เป็นผู้นำทีมอำเภอ อันประกอบด้วย ทีมที่เป็นทางการ คือ ข้าราชการ นำโดยปลัดอำเภอประจำตำบล บุคลากรของทุกส่วนราชการในพื้นที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ และทีมจิตอาสา อันประกอบด้วย ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี คือ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ภายใต้ชื่อ “โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” อันเป็นการตอกย้ำถึงบทบาทของนายอำเภอ ในฐานะผู้นำการบูรณาการของพื้นที่ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน โดยมีเป้าหมายคือ “ประชาชนทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นโอกาสที่ต่อยอดไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้แก่คนในชุมชน เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงอย่างยั่งยืน”

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ให้ความสำคัญกับการขยายผลข้อเสนอโครงการเบื้องต้น (Project Brief) ที่เป็นความต้องการของคนในพื้นที่มาต่อยอดจากการอบรม ทีมบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนของอำเภอ และการเชื่อมประสาน สร้างพลังเครือข่ายทีมหมู่บ้าน ทีมตำบล ทีมอำเภอ และทีมจังหวัด ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ โดยได้ร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน และร่วมกันพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนเป้าหมาย รวมทั้งสิ้นจำนวน 193 หมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความสมัครสมาน สามัคคี มีความปลอดภัย ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกด้าน แก้ไขปัญหาความยากจน ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาคนทุกช่วงวัย ตามหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

โกสิทธิ์/ร้อยเอ็ด(ห)
087-864-4400 081-377-2689

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป