11/11/2024

“อมตะซิตี้ ระยอง” เปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนฯ ครั้งที่ 2 เดินหน้าแผนขยายพื้นที่นิคมฯ เตรียมรับลงทุนเพิ่ม 635.93 ไร่

“อมตะซิตี้ ระยอง” เปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนฯ ครั้งที่ 2 เดินหน้าแผนขยายพื้นที่นิคมฯ เตรียมรับลงทุนเพิ่ม 635.93 ไร่

เมื่อวันที่ 24มิ.ย. เวลา09.00 น. ที่อาคารเอนกประสงค์ภายในองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อวิน นายบรรพต อุดมศักดิ์ รองนายกองค์การส่วนตำบลบ่อวิน เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 2 เพื่อร่างข้อเสนอในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง (ส่วนขยาย) ระยะที่ 6 ควบคู่กับการประชุมผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัท เอสเอส คอนซัลแทนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับบริษัท อมตะซิตี้ ระยอง จำกัด มีผู้แทนจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ ประชาชน และสื่อมวลชน สนใจเข้าร่วมการประชุมกว่า 300 คน

นายบรรพต อุดมศักดิ์ รองนายก.อบต.บ่อวินกล่าวว่านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่อยู่คู่กับจังหวัดระยองมากกว่า 20 ปี เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง และในวันนี้การที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะฯ มีแผนในการขยายพื้นที่ เพื่อรองรับการลงทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศที่กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ให้เป็น “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ครอบคลุม 3 จังหวัด

ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้นในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมก่อนที่จะมีการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของอมตะซิตี้ ระยอง เพื่อนำไปสู่กระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงร่างข้อเสนอในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ในระยะต่อไป โดยกำหนดข้อมูลความเหมาะสมที่สำคัญ ได้แก่ ความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ ความเหมาะสมด้านวิศวกรรม และความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะข้อมูลตามข้อเท็จจริงของพื้นที่เพื่อนำไปสู่ผลการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและสมบูรณ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนานิคมฯ และสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชนในภาพรวมได้ในอนาคต


ด้านนายนำชัย นิลทอง ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ผู้รับผิดชอบดูแลโครงการ อมตะซิตี้ ระยอง (ส่วนขยาย) ระยะที่ 6 กล่าวว่า ด้วยประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ของกลุ่มอมตะ จนสามารถก้าวขึ้นเป็นนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบัน มีนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการในประเทศ รวม 2 แห่ง ได้แก่ อมตะซิตี้ ชลบุรี และอมตะซิตี้ ระยอง โดยอมตะซิตี้ ระยอง เป็นนิคมฯ ที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ของรัฐบาล ดังนั้น บริษัท อมตะซิตี้ ระยอง จำกัด จึงได้วางแผนขยายพื้นที่โครงการเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 635.93 ไร่ ซึ่งจะส่งผล ให้มีพื้นที่ที่จะพัฒนา เพิ่มขึ้น เป็น 17,118.79 ไร่ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรม ที่ทันสมัยและเพียบพร้อมด้วยระบบสาธารณูปโภครองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ภายใต้การร่วมดำเนินงานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)


สำหรับแผนการขยายพื้นที่โครงการอมตะได้มีการจัดสรรการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในพื้นที่โครงการ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.พื้นที่อุตสาหกรรม 2.พื้นที่พาณิชยกรรมและที่พักอาศัย 3.พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค และ 4.พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน ทั้งนี้สัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบันและอนาคต โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 7 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1.กลุ่มเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 2.กลุ่มเซรามิคและโลหะขั้นกลาง/ขั้นปลาย 3.กลุ่มอุตสาหกรรมเบา อาทิ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอหรือชิ้นส่วน กิจการผลิตเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น 4.กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง 5.กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 6.กลุ่มเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก และ 7.กลุ่มบริการสาธารณูปโภค


“ทั้งนี้เชื่อว่าการขยายพื้นที่ดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมต่อประเทศ และชุมชนโดยรอบพื้นที่ตั้งโครงการ ทั้งด้านการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ลดการใช้พลังงานและการปล่อยมลพิษ สร้างรายได้และกระจายความเจริญให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เพิ่มการจ้างงาน และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับคนในชุมชน โดยมีการเพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพต่างๆ มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ทำงานในนิคมฯ และชุมชนโดยรอบนิคมฯ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาทิ การก่อตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมกิจกรรมในชุมชน และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยได้อีกด้วย”

นายนำชัย กล่าว ในการพัฒนาโครงการในครั้งนี้ อมตะมีความห่วงใยต่อผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อมและชุมชนเป็นอย่างยิ่ง จึงได้จัดทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และจัดทำการเผยแพร่ข้อมูลโครงการต่อสาธารณชน โดยบริษัทฯ จะทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ พร้อมทั้งการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งเปิดการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับปรุงการพัฒนาโครงการให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป