20/09/2024

ประจวบคีรีขันธ์-ประจวบฯ ผ่านไป 3 ปีคดีลูกจ้างสาวศาลากลางประจวบฯโกง 40 ล้านเงียบกริบ หลังอัยการคดีทุจริตภาค 7 ยังไม่สรุปสำนวนสั่งฟ้อง

ประจวบคีรีขันธ์-ประจวบฯ ผ่านไป 3 ปีคดีลูกจ้างสาวศาลากลางประจวบฯโกง 40 ล้านเงียบกริบ หลังอัยการคดีทุจริตภาค 7 ยังไม่สรุปสำนวนสั่งฟ้อง ผู้ว่าฯใกล้จะลาออกก่อนเกษียณแต่เมินตอบคำถามสื่อ

จากกรณี น.ส.ขนิษฐา หอยทอง อายุ 31 ปี อดีตพนักงานราชการ สำนักงาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกแจ้งดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารของทางราชการ และใช้เอกสารปลอม มีการแจ้งความที่ สภ.เมืองประจวบฯเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563 หลังจากนำเงินงบประมาณของราชการกว่า 40 ล้านบาท โอนผ่านระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS เข้าบัญชีส่วนตัว พบการกระทำความผิด 165 ครั้ง อ้างว่านำเงินจากการทุจริตไปเล่นพนันออนไลน์ ต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 จ.สมุทรสงคราม มีคำสั่งปล่อยตัว น.ส.ขนิษฐา พ้นการคุมขังจากเรือนจำกลาง จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2563 หลังครบกำหนดฝากขัง 7 ผัด รวม 84 วัน เนื่องจากอัยการคดีทุจริตยังไม่สรุปสำสวนส่งฟ้อง

วันที่ 22 มิถุนายน 2566 นายสุวรรณ ทองกรอย อดีตประธานสภาทนายความ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะทนายความของ น.ส.ขนิษฐา จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 น.ส.สายพิณ ดิบดีคุ้ม อายุ 61 ปี มารดา น.ส.ขนิษฐา เปิดเผยว่า ขณะนี้คดียังไม่มีความคืบหน้า ล่าสุดหลังจากสำนักงานอัยการคดีทุจริตฯ นัดผู้ต้องหาฟังคำสั่งฟ้อง แต่ต่อมาได้แจ้งเลื่อนเพื่อฟังผลการพิจารณาหลายครั้ง แต่ส่วนตัวเห็นว่าผ่านไป 3 ปี ยังไม่สั่งฟ้องคดี น่าจะนานเกินไป หากทำล่าช้าความเป็นธรรมก็ไม่เกิด ไม่มีใครทราบว่าขบวนการที่ปลายทางจะเป็นอย่างไร และคดีนี้น่าจะมีพิรุธ เนื่องจากเดิมพนักงานสอบสวนสวนไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยที่ 1 แต่สอบสวนส่งฟ้องไม่ทันภายใน 7 ผัด ทั้งที่คดีนี้ควรมอบให้ ป.ป.ช.ไปแสวงหาข้อเท็จจริงในระบบไต่สวน ซึ่งจะมีความชำนาญในรูปคดีมากกว่าการใช้ตำรวจทำงานหาข้อมูลในระบบกล่าวหา

นายสุวรรณกล่าวว่า สาเหตุที่มีการเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องคาดว่ายังอัยการทำสำนวนไม่เสร็จ เพื่อเสนอศาลคดีทุจริตฯทำการเสาะหาข้อเท็จจริงในระบบไต่สวน ขณะที่การสืบหาพยานหลักฐาน น.ส.ขนิษฐา จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา น.ส.สายพิณ ให้การปฏิเสธ สำหรับนางประชิต วงศ์ประภารัตน์ หัวหน้างานการเงินและบัญชี สำนักงานจังหวัด ถูกแจ้งดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ด้าน จ่าเอกเสกสรรค์ จันทร แกนนำเครือข่ายต่อต้านการทุจริต จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเหลือเวลาทำงานอีกไม่เกิน 15 วัน ก่อนมีผลในการยื่นใบลาออก ขณะนี้ยังมีอำนาจเต็มในการปราบทุจริต จึงขอให้ช่วยสะสางคดีนี้หลังจากมาทำงานเกือบครบ 2 ปี เนื่องจากประชาชนต้องการทราบความคืบหน้าของคดี ขณะที่ทุกปีมีการนำข้าราชการออกมาทำกิจกรรมสาบานต้านโกง สาบานตนเป็นพลังแผ่ดินหลายครั้ง จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องนำมาปฏิบัติให้ประชาชนเห็นว่ามีการกระทำเพื่อปกป้องการทุจริตจากการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน

นายพิสิษฐ์ รื่นเกษม นายกสมาคมวิทยุและโทรทัศน์ท้องถิ่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ประธานชมรมสื่อมวลชน จ.ประจวบฯ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ออกแถลงการณ์ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้ช่วยติดตามคดีและแจ้งความคืบหน้าเพื่อให้สื่อนำข้อมูลที่ถูกต้องไปรายงานต่อสาธารณะ แต่ไม่ได้รับความสนใจ ทั้งที่ผู้ว่าฯจะลาออกจากราชการมีผลในวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 แต่ในฐานะตัวแทนสื่อ ฯเชื่อว่าท่านมีความตั้งใจจริงในการปฎิบัติหน้าที่ รังเกียจการทุจริต และขณะนี้ท่านยังมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชแผ่นดิน จึงขอทราบว่า ยอดเงินที่ทุจริตแท้จริงคือจำนวนเท่าใด

ปัจจุบันการดำเนินคดีอาญาอยู่ในขั้นตอนใด มีการสอบสวนทางละเมิดกับข้าราชการกี่รายหรือ เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจรายใด จะสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วคืนงบให้คลังจังหวัดได้เมื่อใด เชื่อว่าก่อนลาออกผู้ว่าฯ คงมีเวลาในการหาข้อเท็จจริง หลังจากผ่านไปนาน 3 ปี คดีนี้น่าจะมีความคืบหน้ามากกว่าการปลดออกหัวหน้าสำนักงานจังหวัด ไล่ออกหัวหน้างานการเงินฯ หรือตัดเงินเดือนหัวหน้างานบางราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้สื่อมวลชนได้ยื่นคำร้องผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพื่อขอทราบผลการสอบสวนทางละเมิดเพื่อใช้ชดเงินคืนคลัง จากนั้นผู้บริหารระดับจังหวัดแจ้งว่าการสอบสวนเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานส่วนกลาง จังหวัดไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และกระทรวงมหาดไทยยังไม่มีเอกสารชี้แจงความคืบหน้า หรือผลสรุปการลงโทษการรับผิดทางละเมิดกับข้าราชการที่เกี่ยวข้อง

มีรายงานว่า นายกิตติพงษ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ ซึ่งดำรวงตำแหน่งปลัดจังหวัดประจวบฯเมื่อปี 2563 ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง สรุปรายงานผลการสอบสวนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯจากนั้นได้แจ้งให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อสอบวินัยร้ายแรงตามเอกสารหลักฐานที่ปรากฏ หลังพบการทุจริตตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ถึงเดือนมิถุนายน 2563

สำหรับผลการสอบสวนระดับจังหวัด ระบุว่า การทุจริตเป็นความบกพร่องของผู้เกี่ยวข้องทั้ง นางประชิต และ นางกัลยารัตน์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจในการเบิกจ่าย โดยหัวหน้างานการเงิน และหัวหน้าสำนักงานอาจเข้าข่ายประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่อย่างร้ายแรง หลังจากมอบรหัสในการเบิกจ่ายงบประมาณให้ลูกจ้างเข้าถึงระบบเพื่อทำการทุจริตต่อเนื่อง 14 เดือน เนื่องจากไว้วางใจ ไม่ตรวจสอบระบบการเบิกจ่าย เชื่อถือเอกสารที่ผู้ต้องหารายงานเท็จ
นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์/4เหล่าทัพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์0909944781

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป