19/09/2024

เชียงใหม่-ปฐมนิเทศนักเรียนชั้น ม.4 ปีการศึกษา 2566”โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ กลุ่มภาคเหนือตอนบน

เชียงใหม่-ปฐมนิเทศนักเรียนชั้น ม.4 ปีการศึกษา 2566”โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ กลุ่มภาคเหนือตอนบน

วันที่ 11 มิถุนายน 2566 เวลา 9.00 น นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีเปิด“กิจกรรมปฐมนิเทศนักเรียนชั้น ม.4 ปีการศึกษา 2566”โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน โดยมีนายสมบัติ คำบุญสูง รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย รองประธานเครือข่ายห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย คณะครู และนักเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯทุกคน ร่วมเปิดกิจกรรม ณ ห้องประชุมดารารัศมี  โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กิจกรรมปฐมนิเทศนักเรียนชั้น ม.4 ปีการศึกษา 2566”โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่า และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ เพราะในชีวิตประจำวันของนักเรียนและของมนุษย์ทุกคน จะต้องเกี่ยวข้อง กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา วิวัฒนาการทางด้านความรู้ ทำให้มี  การเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านของชีวิต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหล่อหลอมให้คน ในสังคม รู้จักวิธีการคิดอย่างมีเหตุผล มีวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านสติปัญญา ผ่านกระบวนการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าว เป็นกระบวนการที่สร้างคนให้มีเหตุผล มีความเชื่อมั่นในตนเอง ผ่านการวิเคราะห์สภาพการณ์ หรือปัญหาในชีวิตประจำวัน ให้อยู่ในแนวทางของเหตุและผล ตามหลักตรรกะทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่สำคัญของพลเมืองในสังคมยุคปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต

ขอขอบคุณ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่สนับสนุนการจัดกิจกรรมปฐมนิเทศฯ ในครั้งนี้ ขอขอบคุณคณะวิทยากรทุกท่าน ที่ได้สละเวลามาให้ความรู้แก่นักเรียน และคณะทำงานทุกฝ่ายงาน ที่ร่วมกันระดมความคิด สติปัญญา ทุ่มเทพลังกาย และพลังใจ ในการออกแบบและสรรค์สร้างกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนของชาติ ให้มีกระบวนการคิด กระบวนการปฏิบัติ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ของนักวิทยาศาสตร์ที่ดี เพื่อจะเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งในการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า อย่างมั่นคง สืบไป

นายสมบัติ คำบุญสูง รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย รองประธานเครือข่ายห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า กิจกรรมปฐมนิเทศนักเรียน   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2566 ของโรงเรียนในเครือข่ายโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบนหรือกลุ่มโรงเรียน S.M.T.E. ในวันนี้

การปฐมนิเทศนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4โครงการห้องเรียนพิเศษ
วิทยาศาสตร์ฯ กลุ่มภาคเหนือตอนบน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ดำเนินการจัดกิจกรรมทุกปี มาตั้งแต่ ปีพุทธศักราช 2551 ถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเจตคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม รวมถึงจุดประกายแนวคิดในการทำโครงงาน และงานวิจัยสำหรับนักเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ ของโรงเรียนในเครือข่าย ให้เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน และเกิดประสิทธิผลที่เป็นรูปธรรมการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน655 คน  จากโรงเรียนในเครือข่ายกลุ่มภาคเหนือตอนบน จำนวน 23โรงเรียน ดำเนินกิจกรรมระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน พุทธศักราช 2566รวม 2วัน

โดยได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจาก สพฐ. รวมถึงคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้มาให้ความรู้  กับนักเรียน และยังมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงให้ความอนุเคราะห์ มาบรรยายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานวิจัยของนักเรียน ซึ่งคณะวิทยากรที่ให้ความอนุเคราะห์ ในการบรรยายพิเศษ ประกอบด้วย ครูกุลวรรธน์  อินทะอุด ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ผู้ประสานงานโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “แรงบันดาลใจในการเป็นนักวิจัย”รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธี สุรีย์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “แรงบันดาลใจในการเป็นนักวิจัย”
และการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายให้สำเร็จ” โดยศิษย์เก่าโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์
เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน

ตลอดจนมีกิจกรรมการศึกษาเรียนรู้ตัวอย่างงานวิจัย จากแหล่งเรียนรู้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ที่หลากหลาย เพื่อให้นักเรียนได้รับโอกาสในการพัฒนาความรู้ และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งได้เพิ่มพูนประสบการณ์ ในการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และได้พบกับนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพ เพื่อเป็นการจุดประกายในการเขียนหัวข้อโครงร่างงานวิจัยของนักเรียนต่อไป

พัฒนชัย/เชียงใหม่

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป