ลำพูน- ผู้ว่าฯลำพูน เปิดกิจกรรมและปล่อยขบวนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ “ลำพูนอากาศสะอาด ปราศจากหมอกควันและ PM 2.5”
เปิดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความตระหนักของประชาชนในการลดหมอกควันเชิงรุก เปิดยุทธการป้องกันไฟป่าจังหวัดลำพูน (Kickoff) ภายใต้แนวคิด “ลำพูนอากาศสะอาด ปราศจากหมอกควันและ PM 2.5″
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.30 น. ที่วัดดอยติ ต.ป่าสัก อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน นายวิวัฒน์ อินทร์ไทยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานเปิดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ เพื่อเสริมสร้างความตระหนักของประชาชนในการลดหมอกควันเชิงรุก เปิดยุทธการป้องกันไฟป่าจังหวัดลำพูน (Kickoff) ภายใต้แนวคิด “ลำพูนอากาศสะอาด ปราศจากหมอกควันและ PM 2.5″ โดยมีนายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำพูน กล่าวรายงาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายไฟป่า เจ้าหน้าที่ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรม
ปัญหามลพิษหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ปกคลุมพื้นที่จังหวัดลำพูน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเผาในที่โล่ง เผากิ่งไม้ ใบไม้ เผาขยะ เผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่ของเกษตรกร และการลักลอบ เผาป่าเพื่อล่าสัตว์และหาของป่าในฤดูแล้ง สร้างผลกระทบต่อประชาชน ทั้งในด้านสุขภาพ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ รวมถึงสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นเพื่อประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความตระหนักของประชาชน ในการลดหมอกควันเชิงรุก และเปิดยุทธการป้องกันไฟป่าจังหวัดลำพูน (Kick off) แสดงความพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดลำพูน ที่จะควบคุม ป้องกัน ปัญหาหมอกควัน และ PM 2.5 ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในห้วงระยะวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบกับผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดลำพูน ได้ลงพื้นที่ทั้งอำเภอ 8 อำเภอ เพื่อประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการเผาในที่โล่ง และการลักลอบเผาในพื้นที่ป่าให้กับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่
โดยมีแนวทางการปฏิบัติงานได้แก่ 1.หน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้มงวดการป้องกัน ควบคุมไฟป่า โดยจัดตั้งจุดเฝ้าระวัง ตั้งจุดสกัด และดำเนินคดีกับผู้เผาป่า จัดจ้างราษฎรร่วมเฝ้าระวังไฟในเขตพื้นที่ป่า สร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเสริมสร้างอาชีพให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่จะเข้าป่าล่าสัตว์ หาของป่า รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมในการรักษาระบบนิเวศในพื้นที่สำคัญ
2.หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความรู้เรื่องเกษตรกรรมปลอดการเผา เข้มงวดเผาเศษวัสดุเหลือใช้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเกษตรกรว่า การเผาทำให้เสียสิทธิ์รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล และอาจสิ้นสิทธิ์ในพื้นที่ สปก.
3.หน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการกวดขัน จับกุม และห้ามใช้รถยนต์ปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน
4.หน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทย คุมเข้มท้องถิ่นดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้เผาในที่โล่ง เผากิ่งไม้ ใบไม้ เผาขยะ และควบคุมโครงการก่อสร้างห้ามปล่อย PM 2.5 บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
5.หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คุมเข้ม 5 มาตรการฝุ่นควัน ได้แก่ (1) เตรียมความพร้อมของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (2) เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกและสร้างความรู้เรื่อง มาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละออง PM 2.5) (3) จัดทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ลงพื้นที่ดูแลกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง (4) ขยายบริการด้านการแพทย์สาธารณสุขให้ครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสูง โดยเพิ่มบริการห้องปลอดฝุ่น และ (5) จัดตั้งคลินิก PM 2.5 การให้คำปรึกษาออนไลน์ รวมทั้งให้สนับสนุนอุปกรณ์เวชภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น หน้ากากอนามัยฯ เป็นต้น
ทั้งนี้ภายในงานมีกิจกรรม Kick off ปล่อยคาราวานรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความตระหนักของประชาชนในการลดหมอกควันและป้องกันไฟป่า และการจัดนิทรรศการ ให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่าและและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของหน่วยงานภาครัฐ อีกด้วย