24/01/2025

ตำรวจ-ทหารไทย จับมือลุยแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนให้สิ้นซาก

IMG_7676

ตำรวจ-ทหารไทย จับมือลุยแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนให้สิ้นซาก

วันนี้ (23 มกราคม 2568) เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จตช./ผอ.ศปอส.ตร.) เข้าพบ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เพื่อหารือเรื่องมาตรการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ณ กองบัญชาการกองทัพบก ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.อ.เอกรัตน์ ช้างแก้ว ปธ.คปษ.ทบ. , พล.อ.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. , พล.อ.ธงชัย รอดย้อย เสธ.ทบ. และคณะ พร้อมด้วย พล.ต.ท.กิติศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 , พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว , พล.ต.ต.ณัฐพงษ์ สัตยานุรักษ์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และคณะ ร่วมหารือ

ด้วยปัจจุบัน ปัญหาการหลอกลวงบุคคลให้ไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านในการส่งแรงงานไปยังประเทศที่ 3 รวมถึงปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีการหลอกลวงคนไทยหรือชาวต่างชาติไปทำงาน โดยผ่านช่องทางตรวจคนเข้าเมือง หรือช่องทางธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้เสียหายเป็นวงกว้าง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความห่วงใยปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง และเล็งเห็นความสำคัญในการร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน จึงร่วมหารือในครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้แก่ประชาชน

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพบก โดยขอความร่วมมือปิดกั้นเส้นทางธรรมชาติทั้งหมด เพื่อป้องกันการเข้าออกโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมตรวจสอบเสาสัญญาณโทรคมนาคมที่ติดตั้งโดยที่จะรับอนุญาต หรือมีความผิดปกติตามแนวชายแดน พร้อมเฝ้าระวังบุคคลมีพฤติกรรมน่าสงสัยเดินทางเข้ามากดเงินที่ตู้ atm ในประเทศไทย แล้วกลับไปตามช่องทางธรรมชาติในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งหารือการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่

ทั้งนี้ ในที่ประชุมเห็นพ้องว่า ในระดับพื้นที่เห็นควรใช้กลไกของศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านเมียนมา ของจังหวัดตาก กำหนดให้ 5 อำเภอชายแดน จังหวัดตาก เป็นพื้นที่ควบคุมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาชาวต่างชาติถูกหลอกลวงและการค้ามนุษย์ ได้แก่
1. การคัดกรองเข้าพื้นที่ อ.แม่สอด ทั้งทางถนนและทางอากาศ รวมทั้งบริเวณด่านตรวจ ให้คัดกรองชาวต่างชาติที่เดินทางเข้า อ.แม่สอด อย่างเข้มข้น ซักถามวัตถุประสงค์ของการเดินทางเข้ามาในพื้นที่อย่างละเอียด หากไม่มีหนังสือรับรองจากสถานทูต หรือไม่สามารถชี้แจงวัตถุประสงค์ ไม่มีที่พัก หรือแผนการเดินทางกลับอย่างชัดเจน เห็นควรแจ้งสถานทูต และงดเว้นไม่ให้เดินทางเข้าในพื้นที่อำเภอแม่สอด และใช้มาตรการทางกฎหมายลงโทษ รถยนต์ที่รับจ้างนำพาบุคคลต่างชาติเข้าพื้นที่

2. การจำกัดการเข้าพื้นที่ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และผู้เกี่ยวข้อง ตั้งด่านตรวจร่วมเพิ่มเติม บริเวณเส้นทางที่จะเดินทางเข้าไปในพื้นที่ อ.แม่ระมาด และ อ.พบพระ จ.ตาก

3. การตรวจสอบโรงแรมที่พัก โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองตรวจสอบโรงแรมที่พักทุกแห่งใน อ.แม่สอด ที่ชาวต่างชาติเข้ามาพัก ว่าได้แจ้งข้อมูลการเข้าพักของบุคคลต่างชาติให้ทราบหรือไม่ ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 หากไม่มีการแจ้งให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

4. การสกัดกั้น โดยบูรณาการกำลังร่วมระหว่างตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ/จุดสกัดตลอด 24 ชั่วโมง ในเส้นทางหลักและเส้นทางรองที่จะเข้าสู่ชายแดน เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวต่างชาติลักลอบข้ามแดน

ทั้งนี้ จะมีการประชุมประเมินและติดตามการดำเนินการร่วมในการแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นระยะ เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป