เชียงใหม่-พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง สถาบันซอฟต์แวร์กวางโจว และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เชียงใหม่-พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง สถาบันซอฟต์แวร์กวางโจว และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ.2568 เวลา 13.30 – 15.30 น. ณ ห้อง B301 (Theater) อาคารศูนย์นวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้ ตึก B (ILC-B) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Dr. JUN WU CEO Principal of GZIS พร้อมผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์นวัตกรรมและการจัดการความรู้ ร่วมแถลงข่าวและลงนามบันทึกบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง Guangzhou Institute of Software , China , Guangdong CAS Cogniser Information TechnologyCo.,Ltd.,China สถาบันซอฟต์แวร์กว่างโจว (GZIS), บริษัท กวางตุ้ง แคสค็อกนิเซอร์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (Cogniser) และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU) อย่างเป็นทางการเพื่อสร้างความร่วมมือ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและการวิจัย โดยมุ่งเน้นเรื่องการแลกเปลี่ยนนักศึกษา การแบ่งปันทรัพยากร และโครงการริเริ่มร่วมกัน บริษัท กวางตุ้ง แคส ค็อกนิเซอร์ อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (Cogniser) จะเป็นตัวแทนของ GZIS ในความร่วมมือนี้ มีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Mr. Lyu Sheng, Commercial Consul of China in Chiang Mai ได้ร่วมเป็นเกียรติและสักขีพยานในความร่วมมืออันสำคัญนี้
สำหรับความร่วมมือนี้ครอบคลุมในด้านต่างๆ ได้แก่ การรับสมัครและฝึกอบรมนักศึกษาเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่หลากหลาย การแลกเปลี่ยนนักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาเพื่อการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนคณาจารย์และนักวิจัยเพื่อส่งเสริมการแบ่งปันความรู้และการวิจัยร่วม การตีพิมพ์ร่วม ข้อเสนอการวิจัย การสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการกำกับดูแลโครงงานนักศึกษาร่วม การแบ่งปันทรัพยากรและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาสาขาที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาทุนการศึกษาสำหรับหลักสูตรปริญญาโทและเอก การฝึกงาน (ทั้งทางไกลและในสถานที่จริง) สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีภายใต้ห้องปฏิบัติการร่วม และการดำเนินการเพื่อขอรับทุนวิจัยร่วม โดย MOU ฉบับนี้กำหนดกรอบการทำงานสำหรับความร่วมมือในอนาคต
ความร่วมมือนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ อันจะก่อให้เกิดการบูรณาการในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านบุคคล รวมไปจนถึงผลงานเชิงวิชาการ งานวิจัย เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการเติบโตร่วมกันและความก้าวหน้าในการวิจัยและการศึกษา โดยจะนำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์และประสิทธิผลในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป