‘พี่เต้’ พร้อมคณะลงพื้นที่สำรวจเหตุไฟป่าบนเขาเสียดอ้า พร้อมมอบสิ่งของให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นขวัญกำลัง พร้อมร้องขอให้มีการอนุมัติโดรนดับไฟป่า ในการจัดทำงบปี 2569
‘พี่เต้’ พร้อมคณะลงพื้นที่สำรวจเหตุไฟป่าบนเขาเสียดอ้า พร้อมมอบสิ่งของให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นขวัญกำลัง พร้อมร้องขอให้มีการอนุมัติโดรนดับไฟป่า ในการจัดทำงบปี 2569
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นางสาวภคอร จันทรคณา อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ,ว่าที่ ร.ต.ธนิตศักดิ์ ดารามั่น อดีต ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์,นายสัตวแพทย์ อนันต์ ฤกษ์ดี อดีต ผู้สมัคร ส.ส.กทม เขต ลาดกระบัง พรรคประชาธิปัตย์ และคณะฯ ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าสถานีควบคุมไฟป่าเขาใหญ่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่านครราชสีมา กรมป่าไม้ พร้อมสำรวจพื้นที่ไฟป่าบนเขาเสียดอ้า ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งกินพื้นที่ 1,700 ไร่ ในการนี้ ได้มีเจ้าหน้าในพื้นที่ บรรยายสรุป อาทิ นายอร่าม ทัพหิรัญ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติจังหวัดนครราชสีมา, นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารีนท์ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 8 นายกิตติ เตียวตระกูลวัฒน ผอ.ส่วนควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ นายรณภพ คัชมาตย์ ผอ.ส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 7
พร้อมกับคณะของนายมงคลกิตติ์ ได้ปีนขึ้นป่าเขาเสียดอ้า ด้านบนกว่า 100 เมตร จากพื้นดิน เพื่อไปสำรวจพื้นที่เพลิงไหม้
โดยนายมงคลกิตติ์ ระบุว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ติดตามสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นบริเวณป่าเขาเสียดอ้าอย่างต่อเนื่อง โดยถึงแม้ว่าจะสามารถดับไฟได้เป็นส่วนใหญ่กว่า 90% แล้ว แต่ก็ต้องเฝ้าระวังให้ดับมอดสนิทภายใน 2 สัปดาห์ ไม่ให้กลับมาประทุอีก รวมทั้ง ยังมีความห่วงใยเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ซึ่งปฏิบัติงานบนความเสี่ยงอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อปกป้องพื้นที่ของชาวบ้านและมลพิษฝุ่นควันอันร้ายแรง ดังนั้น ตนจึงเป็นตัวแทนของ ดร.เฉลิมชัย เพื่อมอบกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ และมอบสิ่งของ เช่น แอปเปิ้ลยักษ์ กาแฟซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มชูกำลัง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน
“ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไฟป่า ในพื้นที่นั้น ท่าน ดร.เฉลิมชัย ก็ได้สั่งการมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กองทัพภาคที่ 2 -กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่านครราชสีมา สถานีควบคุมไฟป่าเขาใหญ่ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นม. 1 (ปากช่อง) กรมป่าไม้ ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่านครราชสีมา ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าปราจีนบุรี และ อบต.พญาเย็น เพื่อช่วยดูแลป้องกันไม่ให้ไฟป่าลุกลามเข้าไปในพื้นที่ของราษฎร ซึ่งในเวลานี้ ถึงแม้ว่าเพลิงจะสงบลงแล้วก็จริง แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ปะทุขึ้นมาอีก รวมทั้ง ยังต้องเฝ้าดูสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นแทรกซ้อนขึ้นมาได้ ” นายมงคลกิตติ์กล่าว
นายมงคลกิตติ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ผลกระทบจากไฟป่า กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ทั้งเผาโดยตั้งใจ และคิดประมาทว่าจะสามารถควบคุมไฟไว้ได้ เช่น การจุดไฟเผาไร่เพื่อเป็นการกำจัดวัชพืช โดยเผาแล้วไม่ได้ควบคุมให้ดีพอทำให้เกิดไฟลุกลามขยายเป็นวงกว้าง การล่าสัตว์โดยการจุดไฟให้สัตว์หนีออกมาจากที่ซ่อนให้สะดวกในการล่า หรือการเผาเพื่อต้องการให้หญ้าแตกยอดอ่อนเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ และสาเหตุสำคัญ คือ การจุดไฟเผาป่าเพื่อเก็บหาของป่า ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีรายได้จากการขายก็จริง แต่ก็ไม่สามารถทดแทนการสูญเสียทรัพยากรอันมีค่าในธรรมชาติได้ ดังเช่น ที่ตนและคณะลงพื้นที่ที่เขาเสียดอ้า ก็ได้รับทราบจากการบรรยายสรุปและการลงพื้นที่ ว่าหลังจากเจ้าหน้าที่ใช้เฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ บรรทุกน้ำโปรยดับไฟตลอดทั้งวัน ทั้งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกองทัพบกสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ MI-17 จนสามารถดับไฟได้ทั้งหมด เหลือเพียงตอไม้ที่อาจปะทุขึ้นมาอีก
“สำหรับป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเสียดอ้า ถูกไฟไหม้ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.2568 ในช่วง 3 วันแรกสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ไฟกลับมาปะทุอีกครั้งและขยายวงกว้างลามขึ้นยอดภู ซึ่งเป็นหน้าผา ทำให้ยากต่อการดับไฟ กระทั่งนำเฮลิคอปเตอร์มาช่วยดับไฟจนสำเร็จ รวมระยะเวลาดับไฟนานกว่า 10 วันและมีพื้นที่ป่าเสียหายไปกว่า 1,700 ไร่ ต้นเพลิงไหม้น่าจะมาจากฝีมือคน ในช่วงที่เพลิงไหม้ ทำให้ ลิง เต่าบกเขา เรียงผา กระลอกขาว ไก่ป่า หนีออกจากป่ามาเพราะเพลิงไหม้ จำนวนมาก ตามธรรมชาติปกติ เราจะต้องกำจัดเชิ้อเพลิงแห้ง ที่หล่นทับถม โดยการเผาเอง ไม่ให้สะสมถึง 4-5 ปี เพราะถ้าเกิดไฟไหม้ จะรุนแรงมาก ควบคุมไม่อยู่ อีกอย่าง เพื่อให้ระบบนิเวศรักษาสมดุล พืชต่างๆจะได้ขึ้นมาใหม่หลังเผาและฝนตก ซึ่งขณะนี้กรมป่าไม้ และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ไม่มีโดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ ขนสัมภาระ ขนน้ำ ขนาด 50-100 กก. ซึ่งจำเป็นมากในการใช้ระงับเพลิงไหม้ไฟป่า โดยการใช้โดรน ต้องใช้เป็นฝูง 10-25 ลำ ในการปูพรมดับไฟป่า ซึ่งทั้ง 2 กรม ได้ของบประมาณกลางปี 2568 ไปแล้ว แต่ทราบว่าสำนักงบประมาณไม่อนุมัติและตัดตรงส่วนนี้ออกหมด เหลือแค่งบจุดเฝ้าระวังไฟป่าเท่านั้น ดังนั้น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทราบมาว่าในวันนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้มอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ว่า ต้องตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21 และทุกบาททุกสตางค์ต้องเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไทยและประเทศ นั้น ผมจึงขอร้องว่า อยากให้มีการบรรจุงบประมาณในการซื้อโดรนเพื่อป้องกันไฟป่า เพราะผมเห็นว่า คงไม่มีใครต้องการเกิดไฟป่า แต่ต้องมีการเตรียมความพร้อมโดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทันสมัย เพื่อปกป้องชีวิตประชาชน สัตว์ป่า และทรัพยากรป่าไม้เพื่อให้เป็นสมบัติของชาติไปตลอดกาลนาน และตรงตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรี มอบให้ในการจัดทำงบประมาณฯ ปี 2569 ด้วย ” นายมงคลกิตติ์กล่าว