กลุ่มเครือข่ายประมง ยื่น กมธ.เกษตรฯ เสนอข้อห่วงกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ….
กลุ่มเครือข่ายประมง ยื่น กมธ.เกษตรฯ เสนอข้อห่วงกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ….
วันที่ 13 มกราคม 2568 เวลา 13.20 นาฬิกา ณ ลานรับเรื่องราวร้องทุกข์ ศาลาแก้ว อาคารรัฐสภา (สส.) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา นำโดย นายธวัช สุระบาล ประธานคณะกรรมาธิการ รับหนังสือจากนายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และคณะ เพื่อเสนอข้อห่วงกังวลต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. โดยระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วนั้น มีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้การประมงทะเลของไทยกลับสู่การประมงที่ปราศจากความรับผิดชอบเช่นในอดีต
เนื่องจากมีการแก้ไขสาระสำคัญในหลายประเด็น เช่น การยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมการประมงทั้งหมด การอนุญาตให้อวนล้อมที่มีขนาดตาอวนต่ำกว่า 2.5 เซนติเมตร สามารถทำการประมงในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงที่ถูกห้ามใช้มากว่า 40 ปี เนื่องจากส่งผลให้เกิดการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในปริมาณมาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสมดุลของห่วงโซ่นิเวศ เป็นต้น ซึ่งการแก้ไขสาระสำคัญดังกล่าวอาจนำไปสู่ผลกระทบในเชิงลบต่อระบบนิเวศทะเล การประมงอย่างยั่งยืน และการรักษามาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมการประมงของประเทศ
ซึ่งเป็นพันธกิจที่ประเทศไทยควรยึดมั่นเพื่อความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จึงขอเสนอข้อห่วงกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. ดังนี้ 1. ยกเลิกการแก้ไข พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 69 ให้กลับไปใช้บทบัญญัติที่ตราไว้เดิมความว่า “ห้ามใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน” 2. ยกเลิกการแก้ไข พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 10/1, 11, 11/1 ซึ่งเป็นการผ่อนคลายมาตรการคุ้มครองแรงงานเด็กและแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเล 3. ยกเลิกการแก้ไข พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 85/1
ซึ่งคือการกลับมาอนุญาตให้ขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลระหว่างเรือประมง 4. เสนอผู้แทนจากประมงพื้นบ้าน ผู้แทนองค์กรด้านแรงงาน ผู้แทนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. จำนวน 3 คน และ 5. ขอให้กรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้นพิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษาจากนักวิชาการด้านการประมง ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และด้านแรงงาน
.
นายธวัช สุระบาล ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า จะรับเรื่องดังกล่าวนี้ไว้พิจารณาตามหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาต่อไป โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ