27/01/2025

แม่ฮ่องสอน-อำเภอแม่สะเรียง จัดทำบันทึก MOU ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ บูรณาการร่วมแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง

IMG_5366

แม่ฮ่องสอน-อำเภอแม่สะเรียง จัดทำบันทึก MOU ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ บูรณาการร่วมแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง

นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอแม่สะเรียง/ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง อำเภอแม่สะเรียง มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองอำเภอแม่สะเรียง จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ประจำปี พ.ศ. 2568 ระหว่างศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง อำเภอแม่สะเรียง กับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลป่าแป๋ และองค์การบริหารส่วนตำบลป่าแป๋ และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองตำบลป่าแป๋ กับ ผู้ประกอบการโม่ข้าวโพด โดยมีเกษตรอำเภอแม่สะเรียง ปศุสัตว์อำเภอแม่สะเรียง และหัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง ร่วมลงนามเป็นพยาน ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิงลึกกับกลุ่มเป้าหมายในการให้ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองทุกช่องทางการสื่อสาร ระดมสรรพกำลังทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ ยานพาหนะ และอาสาสมัครในหมู่บ้านในการลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟป่า สำรวจและจัดทำข้อมูลพื้นที่การเกษตรเป็นรายแปลง ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการดับไฟป่ากรณีที่ทางราชการร้องขอ และร่วมมือกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน
สำหรับผู้ประกอบการโม่ข้าวโพด ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด ห้ามมิให้มีการเผาในที่โล่ง ต้น ใบ ซังข้าวโพด ไม่ทิ้งกองซังข้าวโพด ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวง เฝ้าระวังควบคุมดูแลกองซังข้าวโพดอย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้เกิดการลักลอบเผากองซังข้าวโพด ประชาสัมพันธ์เชิญชวนเกษตรกรนำซังข้าวโพดไปประกอบเป็นอาหารสัตว์หรือทำปุ๋ยหมัก และรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมเฝ้าระวังป้องกันการเผาซังข้าวโพด รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการห้ามเผาป่าและพื้นที่การเกษตร
ทั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากเกษตรอำเภอสะเรียง ในการบรรยายให้ความรู้วิธีการทำปุ๋ยหมักจากซังข้าวโพด ให้แก่ผู้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU ซึ่งการนำซังข้าวโพดมาผลิตปุ๋ยหมัก ถือเป็น
ทางออกที่ยั่งยืนในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และลดปริมาณเชื้อเพลิงที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สุกัลยา / แม่ฮ่องสอน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป