เชียงใหม่-ส่งมอบหม้อแปลง IoT และระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทน Solar กับ Energy Storage
บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ส่งมอบหม้อแปลง IoT และระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทน Solar กับ Energy Storage ด้วยโปรแกรม Energy Management System ให้แก่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) จากการผลิตไฟฟ้า ขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2567 สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด จัดพิธีส่งมอบหม้อแปลงไฟฟ้า ภายใต้โครงการ Low Carbon Transformer ระบบจัดการหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อรองรับพลังงานสะอาด และการใช้ไฟฟ้าแบบเฉียบพลัน
โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สิริชัย คุณภาพดีเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยคุณประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทเจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด คุณมนัสพงษ์ มั่งไคร้ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรมฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม และผู้มีเกียรติร่วมงาน ณ ห้องประชุมประเสริฐฤกษ์เกรียงไกร ชั้น 4 อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์
รองศาสตราจารย์ ดร.สิริชัย คุณภาพดีเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ด้วยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับบริษัทเจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ให้ดำเนินงานวิจัย ภายใต้โครงการ “Low Carbon Transformer ระบบจัดการหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อรองรับพลังงานสะอาดอย่างมั่นคง Net Zero, Near Zero, Peak Demand และ Demand Response”
ซึ่งผลที่ได้รับจากงานวิจัยในครั้งนี้ ในด้านการอนุรักษ์พลังงาน จากผลการทดสอบหม้อแปลง Low Carbon โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ จะเห็นได้ว่าการปรับลดแรงดันไฟฟ้าโดยวิธีการปรับแท๊ปอัตโนมัติ (On-Loap Tap Changer) และรักษาระดับแรงดันไฟฟ้าดังรูป สามารถลดค่ากำลังไฟฟ้าได้ ซึ่งหมายถึงการลดค่าไฟฟ้ารายเดือนของหม้อแปลงไฟฟ้าลูกนั้นๆ ได้ประมาณ 5-15% ขึ้นอยู่กับระดับแรงดันไฟฟ้าที่ได้รับจากการไฟฟ้าฯ
ดังนั้นผลการประหยัดพลังงานไฟฟ้า จากการติดตั้งหม้อแปลง Low Carbon ขนาด 630 kVA มีการใช้พลังงานไฟฟ้าลดลง หลังจากลบตัวแปรที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ EV Charger และ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งมีผลเท่ากับ 9.01% คิดเป็น 26,601.82 kWh/year เป็นเงิน 106,407.28 บาทต่อปี เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เท่ากับ 12.92TonCo2/year
ประโยชน์ของโครงการที่มีต่อประเทศ จากการรักษาระดับแรงดันไฟฟ้าให้คงที่โดยอัตโนมัติ ซึ่งหมายถึงการลดค่าไฟฟ้ารายเดือนของหม้อแปลงไฟฟ้าลูกนั้นๆ ได้ 5-15% ขึ้นอยู่กับระดับแรงดันไฟฟ้าที่ได้รับจากการไฟฟ้าฯ ของแต่ละสถานประกอบการ สามารถช่วยประเทศลดการนำเข้าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ สามารถรองรับการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุด (Cut Peak / Demand Respond), สภาวะ Backup พลังงานไฟฟ้าขณะไฟฟ้าดับชั่วขณะ (ทดแทนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator)), ป้องกันหม้อแปลงไฟฟ้าขัดข้องอย่างฉับพลัน จากการอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว (Fast Charge) ของเครื่องอัดประจุไฟฟ้า, รองรับความมั่นคงระบบไฟฟ้าของสายส่ง, ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากการควบคุมแรงดันไฟฟ้า ส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) จากการผลิตไฟฟ้า ขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
นภาพร/เชียงใหม่