22/12/2024

มสส.ร่วมกับ สสส.ประชุมความเสี่ยงและสถานการณ์สุขภาพสื่อมวลชน ปี 67

1FTUYIKT

มสส.ร่วมกับ สสส.ประชุมความเสี่ยงและสถานการณ์สุขภาพสื่อมวลชน ปี 67

 

 

มสส.ร่วมกับ สสส.ประชุมความเสี่ยงและสถานการณ์สุขภาพสื่อมวลชน ปี 67 เห็นตรงกันอาชีพสื่อไม่มีความมั่นคง ถูกเลิกจ้าง คนที่ยังอยู่ทำงานหนักเกิดความเครียด ซึมเศร้า เสนอตั้งคณะทำงานหาแนวทางแก้ปัญหาและผลกระทบ มสส. เปิดผลสำรวจสุขภาพสื่อไทยปี 67 พบคนทำสื่อทำงานหนักพักผ่อนน้อยมีความเครียดสูง โรคประจำตัวมากขึ้นทั้งความดันและเบาหวาน แต่ยังมีข่าวดีดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าลดลง บอร์ดสสส.ห่วงปี 2568 สื่อออนไลน์เกิดภาวะฟองสบู่เพราะแข่งขันสูง ด้านเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.สายสื่อเสนอแก้ปัญหา 4 ส.คือ เสรีภาพ สวัสดิภาพ สวัสดิการและสหภาพแรงงาน ส่วนนักวิชาการห่วงอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567 มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้จัด ประชุมโฟกัส กรุ๊ป เรื่อง “ความเสี่ยงและสถานการณ์สุขภาวะสื่อมวลชนไทย ปี 2567 ” เพื่อนำเสนอผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะของสื่อมวลชน ณ ห้องไดมอน 4 ชั้น 3 โรงแรมอวานี รัชดา กรุงเทพฯ

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ด้านการสื่อสารมวลชน กล่าวเปิดการประชุมว่าภาพรวมการทำงานของสื่อมวลชนไทยในปี 2567เต็มไปด้วยความยากลำบากแค่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2567 มีธุรกิจสื่อปลดออกพนักงานไปแล้วไม่ต่ำกว่า 300 คน เช่น Voice TV เลิกจ้างพนักงาน 200 กว่าคน PP TV เลิกจ้างพนักงาน 90 คน ส่วนครึ่งปีหลังล่าสุดสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เพิ่งเลิกจ้างพนักงานกว่า 300 คน แม้จะมีการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแต่ในอนาคตก็ยังยากลำบาก ส่วนคนที่ยังอยู่ก็มีความไม่แน่นอนเนื่องจากรายได้สปอนเซอร์น้อยลงทุกสื่อต้องแย่งเม็ดเงินโฆษณากัน

นอกจากนั้นในอนาคตอันใกล้ภาวะฟองสบู่ของวงการสื่อออนไลน์กำลังจะแตกเพราะปริมาณมากเกินจนล้นตลาด สื่อที่ยังอยู่ก็ปรับลดขนาดองค์กรทำให้คนทำงานสื่อต้องทำงานหนักขึ้นค่าล่วงเวลาไม่ได้เบี้ยเลี้ยงไม่มี วันหยุดก็น้อยจนเกิดความเครียดแทบไม่มีเวลาพักผ่อน สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อสุขภาพของสื่อมวลชนอย่างมาก จึงหวังว่าผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะสื่อมวลชนไทยปี 2567 ที่ทางมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะโดยการสนับสนุนของสสส.จะนำมาเป็นข้อมูลร่วมกันแสวงหาแนวทางในการดูแลสุขภาพของสื่อมวลชน และในเวทีการประชุมครั้งนี้มีนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภาสายสื่อมวลชนมาร่วมเสนอแนะมุมมองด้วยจะได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายระดับชาติต่อไป

​รศ.ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานการณ์ ปัญหาสุขภาวะของสื่อมวลชนไทย ปี 2567 โดยมีการสอบถามกลุ่มตัวอย่างสื่อมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 372 คน แบ่งเป็นเป็นเพศชาย 61% เพศหญิง 38.0% เพศทางเลือก 1 % คำถามแรกสื่อมวลชนทำงานหนักมากน้อยแค่ไหนพบว่าส่วนใหญ่ 44.09%ทำงาน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่จำนวน 19.35%ไม่มีความแน่นอนในชั่วโมงทำงาน ขณะที่ 13.98% ทำงาน 9-10 ชั่วโมงต่อวันและที่มากกว่านั้นมีสื่อมวลชน 8.60%ต้องทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน สรุปว่าเกินครึ่งทำงานหนักมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง

นอกจากนั้นยังพบว่าส่วนใหญ่ 41.94%ไม่มีวันหยุดที่แน่นอน 31.18% หยุด 2 วันต่อสัปดาห์ 10.75% หยุด 1 วันต่อสัปดาห์ และ8.60 % ไม่มีวันหยุดเลย ส่วนเรื่องโรคประจำตัวส่วนใหญ่ 56.99% ไม่มีโรคประจำตัว 43.01%มีโรคประจำตัว คนที่มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูงและเบาหวานในสัดส่วนที่พอๆกันคือ 24.14% โดยภาพรวม 77.58% เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือNCDs ส่วนการตรวจสุขภาพประจำปีส่วนใหญ่ 74.19%มีการตรวจสุขภาพประจำปี อีก25.81%ไม่ได้ตรวจ ประเด็นสุดท้ายเรื่องปัญหาความเครียดจากการทำงานพบว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่41.13%มีความเครียดสูงกว่าปกติเล็กน้อย รองลงมา 23.39%มีความเครียดปานกลาง ตามมาด้วยปกติไม่เครียด 18.28% และสุดท้ายเครียดมาก 5.38% เมื่อดูโดยภาพรวมมีความเครียดสูงถึง 69.9%

ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพสื่อมวลชนส่วนใหญ่ 83.60% ไม่สูบบุหรี่ ส่วนอีก16.40%ยังสูบบุหรี่อยู่ สำหรับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 96.77%ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีเพียง 3.23%เท่านั้นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า สำหรับคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 58.33%ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนอีก41.67%ซื้อจากร้านค้าทั่วไป ส่วนเหตุผลของคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นระบุว่ากลิ่นไม่เหม็นและคิดว่าเลิกได้ง่าย ประเด็นพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์นั้นพบว่า 43.01%ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่ ส่วนอีก 48.12% ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนเหตุผลที่ดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ 43.66% เพราะยังสังสรรค์และเข้าสังคมอยู่ รองลงมา26.76% ดื่มเพื่อความสนุกสนาน สำหรับสื่อมวลชนที่ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่นั้น 58.55% มีความเสี่ยงต่ำ 22.80%มีความเสี่ยงสูงหรือเสพติดแอลกอฮอล์แล้วและ18.65% เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้ คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ 57%ไม่คิดจะเลิก ส่วนอีก43%คิดจะเลิกดื่ม

ด้านความปลอดภัยทางถนน ปรากฏว่าสื่อมวลชนมีการสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง 60.22% สวมบางครั้ง 35.48% และไม่สวมเลย 4.30% ในขณะที่การคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่รถยนต์ 84.95% คาดทุกครั้ง มีเพียง 15.05%ที่คาดบางครั้ง สื่อส่วนใหญ่ 42.53%ไม่เคยประสบเหตุจากการดินทาง 23.54%เคยประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์และ 24.81% เคยประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยายนต์ ในขณะที่พฤติกรรมฝ่าฝืนกฎจราจร 51.08% ไม่เคยฝ่าฝืน ส่วน48.92% นั้นเคยฝ่าฝืนส่วนใหญ่เป็นการฝ่าฝืนสัญญาณไฟและการขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด ด้านปัจจัยเสี่ยงเรื่องการพนันและการพนันออนไลน์นั้นพบว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่ 65.59% เคยเล่นการพนัน ส่วนอีก34.41%ไม่เคยเล่นการพนัน สำหรับคนที่เคยเล่นการพนันส่วนใหญ่ 80.47% เล่นในสถานที่ที่จัดให้มีการเล่น ส่วนอีก 17.19%เล่นผ่านออนไลน์ เมื่อถามถึงประเภทการพนันที่เล่นว่าเล่นพนันชนิดไหน ส่วนใหญ่ 46.84% ตอบว่าซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล รองลงมา 20.53%ซื้อหวยใต้ดินและอีก20.53 % เล่นไพ่

เลขาฯมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) กล่าวสรุปและวิเคราะห์ผลการสำรวจในปี 2567ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อทำให้สื่อมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงในการทำงานและต้องทำงานหนักขึ้น วันหยุดต่อสัปดาห์ลดน้อยลงส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ สื่อมวลชนมีโรคประจำตัวเพิ่มขึ้น16.01%เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 โรคประจำตัวที่เป็นกันมากที่สุดคือเป็นความดันโลหิตสูงและเบาหวาน การเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีปริมาณที่สูงขึ้น และยังพบว่าส่วนใหญ่มีความเครียดจากการทำงานสูงมาก ดังนั้นผู้บริหารองค์กรสื่อควรให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหานี้โดยเร่งด่วน ส่วนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ มีการสูบบุหรี่น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ลดลงไป7.13%

และพบว่าสื่อมวลชนที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 เช่นเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่าดื่มลดลง8.99%เมื่อเปรียบกับปี 2566 ส่วนความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยทางถนนพบว่ามีการสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งนั้นมีตัวเลขเพิ่มขึ้น 2.82% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ส่วนการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งลดลง2.26% เมื่อเทียบกับปี 2566 พฤติกรรมการพนัน ยอมรับว่าเคยเล่นพนันซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2566 ประเภทการพนันที่เล่นมากที่สุดคือสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่แตกต่างไปจากปี 2566 ซึ่งเป็นไปได้ว่าสื่อมวลชนมองว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ได้เป็นการพนันแต่เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายเพราะรัฐบาลเป็นเจ้าของ ดังนั้นการปรับมุมมองของสื่อว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นการพนันจึงไม่ใชเรื่องง่าย

 


​นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา กลุ่ม18 สายสื่อสารมวลชน อดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท กล่าวว่าผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อทำให้สื่อมวลชนต้องทำงานหนักมาก เกิดความเครียดมีภาวะซึมเศร้าจำนวนมาก ควรจะมีทีมที่ปรึกษาเข้าไปช่วยเหลือโดยเฉพาะคนทำงานที่อยู่เบื้องหลังต้องได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษ จากประสบการณ์การทำงานด้านสื่อสารมวลชนของตัวเอง สรุปได้ว่ามีประเด็นที่สื่อมวลชนไทยต้องเผชิญขอเรียกว่า 4 ส. คือ เสรีภาพที่สื่อมวลชนไทยยังคงมีข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นหรือการนำเสนอข่าวสาร เพราะยังมีการฟ้องร้องปิดปากโดยใช้กฎหมายความมั่นคงและกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่

ส.ที่สองคือสวัสดิภาพของคนทำงานด้านสื่อสารมวลชนมีอยู่หลายครั้งนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมากลับถูกข่มขู่คุกคามจากผู้มีอิทธิพล ส.ที่3 คือ สวัสดิการในการทำงาน ในอดีตการจ้างงานของธุรกิจสื่อจะเป็นพนักงานประจำมีสวัสดิการดูแลแต่ทุกวันนี้มีการแข่งขันสูงทำให้ต้องลดต้นทุน ลดสวัสดิการลง จากพนักงานประจำเป็นการทำงานชั่วคราวทำให้ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน สื่อต้องทำงานหนักมากขึ้น มีความเสี่ยงทั้งด้านสุขภาพเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ และส.สุดท้ายคือสหภาพแรงงาน ปัจจุบันมีองค์กรธุรกิจสื่อจำนวนไม่มากนักที่มีสหภาพแรงงานซึ่งเป็นองค์กรที่ลูกจ้างรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องเรียกร้องสวัสดิการและสวัสดิภาพต่อนายจ้าง

ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษารูปแบบการจ้างการงานของคนที่ทำงานในวงการสื่อมวลชนพบว่าเป็นรูปแบบการจ้างงานที่ผิดปกติ มีการจ้างงานที่ไม่มีมาตรฐานการทำงานมากขึ้น เช่น จ้างทำงานบางเวลาหรือจ้างทำงานแค่ 11 เดือน มีการต่อสัญญาการทำงานเป็นรายปีหรือการจ้างงานเหมาช่วง เป็นสถานการณ์ที่มีการแปรสภาพจากการทำงานมั่นคงไปสู่ความไม่มั่นคง ส่งผลกระทบต่อปัญหาความเครียดและสุขภาพจิตมีผลต่อพลังของสื่อจากเดิมที่มีพลังมากไปสู่การมีพลังน้อยลงเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อ เรื่องนี้ ไม่ใช่เฉพาะสื่อดั้งเดิมที่จะได้รับผลกระทบเท่านั้นแม้แต่คนรุ่นใหม่ Gen Z หรือ Gen Alpha ที่ต้องการเป็น Youtuber Tiktoker ที่มุ่งหารายได้และเห็นว่าเป็นงานชนิดหนึ่ง ก็จะได้รับผลกระทบเพราะไม่มีความมั่นคงในการทำงานและไม่มีระบบสวัสดิการต่างๆในการดูแลเช่นเดียวกัน

จากข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ธุรกิจสื่อ วัฒนธรรมและกราฟฟิก เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนรูปของรูปแบบธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ การแสดง และสื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งมีประเด็นที่น่ากังวลในอุตสาหกรรมบันเทิง เช่น ความรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศ ขาดการทำงานที่มีคุณค่า และการเข้าไม่ถึงระบบการคุ้มครองทางสังคม ส่งผลให้ต้องมีการประเมินผลกระทบของการจ้างงานใหม่

ด้านสื่อมวลชน นายเสด็จ บุนนาค ผู้จัดการสภาการสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ยอมรับว่ามีการจ้างงานหลายรูปแบบแต่สรุปว่าไม่ว่าจ้างงานแบบไหนการทำงานก็เหนื่อยเหมือนกันหมด เพราะทำงานเหมือนเป็นพนักงานประจำทุกอย่างแต่ไม่ค่อยมีลูกจ้างลุกขึ้นมาเรียกร้อง เคยมีการตั้งสหภาพแรงงานสื่อมวลชนการแห่งประเทศไทยแต่เจ้าของธุรกิจสื่อก็ไม่ให้ความร่วมมือ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้มากนัก ขณะที่สื่อมวลชนอื่นๆต่างได้แสดงความคิดเห็นสอดคล้องกันและเห็นร่วมกันว่า สภาการสื่อสารมวลชนแห่งชาติ สมาคมวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ สมาชิกวุฒิสภา และมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะควรจะจับมือกันเพื่อหาข้อสรุปในการผลักดันแนวทางแก้ปัญหาทั้งเรื่องสภาพการจ้างในการทำงาน สวัสดิภาพ สวัสดิการ และการช่วยเหลือสื่อมวลชน ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อโดยการตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อเร่งรัดผลักดันเรื่องนี้ต่อไป

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป