23/01/2025

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หารือแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งจราจร ยาเสพติด การประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย

IMG_4834

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หารือแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งจราจร ยาเสพติด การประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย

วันนี้ (17 ธันวาคม 2567) เวลา 15.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ประชุมหารือแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาหลักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร. , พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.สยาม บุญสม จตร.รรท.ผบช.น. , นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร , พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร , รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

การประชุมหารือแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานครและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการหารือประเด็นในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. การแก้ไขปัญหาด้านการจราจร โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการชั่งน้ำหนักรถบรรทุก แล้วให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ซึ่งดำเนินการไปแล้วกว่า 300 คดี , การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการควบคุมสัญญาณไฟจราจร บังคับใช้กฎหมาย และวินัยจราจร ส่วนการจอดรถริมถนนสาธารณะ รอรับผู้โดยสาร หรือกลุ่มรถสาธารณะที่ตั้งตัวเป็นกลุ่ม สร้างพื้นที่อณาเขตต่าง ๆ ใช้กำลังทำร้ายร่างกาย หรือกลุ่มรถจักรยานยนต์ส่งสิ่งของหรืออาหารที่ขับขี่ฝ่าฝืนกฎหมาย จะต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาด

2. การแก้ไขปัญหายาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้า การขายสิ่งของผิดกฎหมาย Sex toy โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณโรงเรียนและสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ จะต้องสืบสวนปราบปรามไปยังผู้จำหน่าย ต้นตอการนำเข้า หรือการจำหน่ายที่ผิดกฎหมาย เพื่อสร้างอนาคตของเด็กและเยาวชนต่อไป

3. การแก้ไขปัญหาคนขอทาน การค้าประเวณี การค้าสินค้าผิดกฎหมาย คนเร่ร่อน หรือคนไร้บ้าน โดยนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และกรุงเทพมหานคร เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยจะมีการดำเนินการตามกฎหมาย หรือนำเข้าไปพักยังสถานที่พัก (Shelter) ส่วนคนขอทานทั้งคนไทยหรือคนต่างด้าวจะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

4. การหลอกลวงเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว การประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย จะต้องร่วมกันตรวจสอบ บังคับใช้กฎหมาย ปราบปรามทุกมิติ ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น พื้นที่โดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์ , ถนนสุขุมวิท , ถนนข้าวสาร เป็นต้น

5. ปัญหากลุ่มจีนเทาในพื้นที่ห้วยขวางและเขตอื่น ๆ จะต้องดำเนินการตรวจสอบ ปราบปรามทุกด้าน ตั้งแต่การเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร วัตถุประสงค์การเข้ามา การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว สินค้าหรือธุรกิจที่ดำเนินกิจการ โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะร่วมกับกรุงเทพมหานคร ตรวจสอบและดำเนินการในทุกด้าน

6. การใช้ที่ดินเขตพญาไทหรือพื้นที่เขตอื่น ๆ กรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้หารือการใช้พื้นที่ร่วมกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้ใช้ร่วมกันสมัยที่เป็นตำรวจดับเพลิงแล้วโอนภารกิจไปให้กรุงเทพมหานคร และมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2546 กำหนดแนวทางการดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวไว้ส่วนหนึ่งแล้ว

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวร่วมกันว่า ทั้งหมดนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งคณะทำงานย่อยเชิงปฏิบัติการแต่ละด้าน เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมปฏิบัติการโดยเร็ว จะนำร่องปฏิบัติในพื้นที่โดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ศาลหลักเมือง ถนนสุขุมวิท ถนนเยาวราช และพื้นที่ห้วยขวาง โดยจะกำหนดการปฏิบัติและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเห็นผลโดยเร็ว เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง เมืองแห่งการท่องเที่ยว เมืองที่น่าอยู่ มีความสะดวกและปลอดภัย

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป