14/01/2025

กาฬสินธุ์-นายอำเภอผลิตข้าวพันธุ์ใหม่ “ข้าวบ้านยาง” มอบเป็นของขวัญปีใหม่

5_0

นายอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่าทางตันต้นทุนทำนาสูง ราคาจำหน่ายผลผลิตข้าวเปลือกตกต่ำ จัดพื้นที่ว่างเปล่าหลังที่ว่าการอำเภอ 2 และแปลงนาของขาวบ้านอีก 6 ไร่ เป็นแปลงสาธิตทำนาอินทรีย์ เพื่อผลิตเมล็ดข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ พันธุ์ “ข้าวบ้านยาง” เตรียมมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พร้อมเชิญชวนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน ที่ขาดแคลนแรงงานร่วมโครงการ “ลงแขก” ทำนาฟรี นำผลผลิตแบ่งปันและนำไปช่วยเหลือครัวเรือนยากจน และกลุ่มเปราะบาง

 

วันที่ 12 ธันวาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน จากการประเมินผลทำนาปีหลังสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว ที่ จ.กาฬสินธุ์พบว่า ต้นทุนการทำนายังสูงถึงไร่ละ 5,000 บาท ขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยไม่เกินไร่ละ 400-500 ก.ก. ที่เมื่อนำผลผลิตข้าวเปลือกไปขาย ถึงแม้จะราคาค่อนข้างดี ตันละ 9,000-10,000 บาท พบว่ารายได้ไม่คุ้มทุน เป็นผลสืบเนื่องมาจากการลงทุนทุกขั้นตอน ที่มีรายจ่ายเกิดขึ้น ทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ารถไถ ค่าแรงถอนกล้า ปักดำ ค่ารถเกี่ยว ค่าขนส่ง โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี 50 ก.ก./กระสอบ ราคา 800-1,000 บาท เมื่อหักลบกลบหนี้แล้ว รายรับไม่คุ้มทุนดังกล่าว ชาวนาหลายรายจึงประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซาก ต่อเนื่องทุกปี

นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตั้งแต่มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการเกษตรและทำนา ถึงแม้จะสะดวกสบาย ประหยัดเวลา แต่พบว่ามีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จึงพยายามหาแนวทางทางช่วยชาวนาในพื้นที่ลดทุน และเป็นต้นแบบให้ชาวนาพื้นที่อื่นได้นำไปใช้ เริ่มจากฤดูกาลผลิตปี 66 ที่ผ่านมา ได้จัดแปลงนาสาธิตโดยไม่มีค่าจ้างแรงงาน ภาษาอีสานเรียกว่าการ “ลงแขก” หรือการทำนาวาน โดยนำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ อส. ปรับพื้นที่ว่างเปล่าหลังที่ว่าการอำเภอ 2 ไร่ ทำนาอินทรีย์ ใช้ข้าวเหนียว “พันธุ์เขาวง” ที่มีชื่อเสียงของ จ.กาฬสินธุ์ เป็นเมล็ดพันธุ์ ทำนาดำ เพื่อง่ายในการดูแลรักษาและคัดคุณภาพพันธุ์ข้าว ที่ตั้งชื่อใหม่ว่า “ข้าวบ้านยาง” ใช้ปุ๋ยคอกบำรุงเพื่อที่จะได้ข้าวอินทรีย์ ร่วมกันลงแขกทั้งถอนกล้า ปักดำ ตีข้าว ได้ผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 1 ตัน ผลผลิตที่ได้แยกเป็น 2 ส่วน แบ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ 208 หมู่บ้าน อีกส่วนหนึ่งนำไปสีเป็นข้าวสาร เพื่อมอบให้ครัวเรือนยากจนและกลุ่มเปราะบางในโอกาสต่างๆ

นายเอกรัตน์กล่าวอีกว่า เมื่อเห็นว่าการทำแปลงนาสาธิตปีแรกประสบผลสำเร็จ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านตอบรับดีมาก ในฤดูกาลผลิตปี 67 ที่ผ่านมา จึงดำเนินการจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ใช้ที่ดินว่างเปล่าที่เดิมหลังที่ว่าการอำเภอ 2 ไร่ โดยมีชาวบ้านดอนยูง ต.ยางตลาด และชาวบ้านโนนภักดี ต.นาเชือก อ.ยางตลาด เข้าร่วมโครงการรายละ 2 ไร่ รวมเพาะปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ หรือข้าวเหนียวพันธุ์ “ข้าวบ้านยาง” จำนวน 6 ไร่ ทุกขึ้นตอนมีการ “ลงแขก” ทำนาเหมือนเดิม ผลผลิตที่ได้เฉลี่ยไร่ละ 300 กก. ได้ผลผลิตข้าวเปลือกรวมประมาณ 1,800 ก.ก.หรือ 18 ตัน นำมาจัดสรรเช่นเดิม คือแบ่งเป็นพันธุ์ข้าว และสีเป็นข้าวสารไว้มอบครัวเรือนยากจนและครัวเรือนเปราะบางต่อไป

นายเอกรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปีนี้พิเศษสุด เมื่อได้ปริมาณผลผลิต ที่เป็นข้าวเหนียวพันธุ์ “ข้าวบ้านยาง” จำนวนมากขึ้น จึงได้ประสานกลุ่มนาแปลงใหญ่ ของสำนักงานเกษตรอำเภอยางตลาด นำเครื่องสำหรับบรรจุภัณฑ์มาแพ็คกิ้งข้าวสาร ถุงละ 1 ก.ก. เพื่อเป็นการถนอมและเพิ่มคุณภาพพันธุ์ข้าว ทั้งนี้ เพื่อเตรียมมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ชุมชน และ จัดเป็นกระเช้ามอบให้ผู้หลักผู้ใหญ่ หรือแขกบ้านแขกเมืองในโอกาสต่อไป โดยทำการแพ็คกิ้งคู่กับ “ข้าวเจ้า” พันธุ์ดีจากต่างจังหวัด ซึ่งในปีหน้าจะนำพันธุ์มาทดลองเพาะปลูกในพื้นที่ อ.ยางตลาดต่อไป

“สำหรับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน ที่ขาดแคลนแรงงาน และต้องการประหยัดรายจ่ายในการทำนาปี ฤดูกาลเพาะปลูก ปี 68 หากมีความประสงค์จะร่วมโครงการลงแขกทำนากับทางอำเภอ สามารถยื่นความจำนงได้ โดยนายอำเภอจะนำพาส่วนราชการทุกภาคส่วนในพื้นที่ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านร่วมลงแขกทุกขั้นตอน ซึ่งอาจจะจัดเป็นกิจกรรมนันทนาการ ตั้งแต่แข่งขันถอนกล้า แข่งขันปักดำ แข่งขันเกี่ยวข้าว แข่งขันตีข้าว แข่งขันยกกระสอบข้าว เพื่อความสนุกสนาน สร้างความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะ นอกจากนี้ยังนำผลผลิตมาแบ่งปันตามความเหมาะสมอีกด้วย” นายเอกรัตน์กล่าวในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการนำเมล็ดพันธุ์ “ข้าวเหนียวเขาวง” ที่ขึ้นชื่อ มาตรฐาน Gi ซึ่งทำการเพาะปลูกกันมากในพื้นที่ อ.เขาวง และ อ.กุฉินารายณ์ โดยนายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด ได้นำมาทำการเพาะปลูกในแปลงสาธิต เป็น พันธุ์ “ข้าวบ้านยาง” นั้น มีคุณภาพของผลผลิต ให้กลิ่นหอม และความนุ่มเหนียวใกล้เคียงกับต้นกำเนิด “ข้าวเหนียวเขาวง” มาก เนื่องจากเป็นข้าวอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยคอกบำรุง ใช้น้ำฝนเป็นหลัก จึงถือว่าเป็นการผลิตข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่พันธุ์ “ข้าวบ้านยาง” ประสบความสำเร็จ นำผลผลิตข้าวพันธุ์ดีไปขยายพันธุ์ต่อ รวมถึงการเชิญชวนผู้นำชุมชน ชาวบ้าน มาร่วมโครงการโดยการลงแขก เพื่อประหยัดทุนทำนา และอนุรักษ์ประเพณีการลงแขกหรือทำนาวาน ให้อยู่คู่สังคมไทยได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป