10/01/2025

“นวัตกรรมโดรนโจมตีทิ้งระเบิด” หน่วยเฉพาะกิจราชมนู รางวัลชนะเลิศ เทคโนโลยีเพื่อการป้องกันชายแดน ระดับกองทัพบก

1065211_0

“นวัตกรรมโดรนโจมตีทิ้งระเบิด” หน่วยเฉพาะกิจราชมนู รางวัลชนะเลิศ เทคโนโลยีเพื่อการป้องกันชายแดน ระดับกองทัพบก

 

หน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร มีภารกิจหลัก ในการป้องกันชายแดน โดยการสกัดกั้น ยับยั้ง โต้ตอบ และผลักดันการละเมิดอธิปไตยของกองกำลังต่างชาติ ในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งได้รับมอบจาก ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก โดย ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งปัจจุบันรูปแบบการรบได้มีการพัฒนาและ นำอากาศยานไร้คนขับมาใช้ในการปฏิบัติการมากขึ้น ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนเทคนิค และวิธีการรบ ในรูปแบบใหม่

การโจมตีด้วยโดรนถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ และก่อให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก ซึ่งฝ่ายเรา จะต้องมีการเรียนรู้ และพัฒนาขีดความสามารถในการใช้งาน ทั้งนี้ หน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร ได้ริเริ่มประดิษฐ์นวัตกรรม โดยการนำโดรนทางการเกษตร มาดัดแปลงเป็นโดรนโจมตีทิ้งระเบิด เพื่อใช้ในการ ปฏิบัติทางยุทธวิธี เข้าโจมตีทำลายข้าศึก


1. คุณลักษณะทั่วไป
1.1 เป็นโดรน 4 ใบพัด ขนาด 36 นิ้ว ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์บัสเลส ตัวลำเป็นไฟเบอร์คาร์บอน มีความแข็งแรงทนทานและน้ำหนักเบา – ควบคุมด้วย ไฟลท์คอนโทรล Pixhawk V6X พร้อม GPS ระบุตำแหน่งที่แม่นยำ
1.2 ติดตั้งกล้องตรวจการณ์แบบ FULL HD พร้อมไฟ LED
1.3 ใช้แบตเตอรี่ขนาด 30,000 มิลลิแอมป์ จำนวน 2 ก้อน
1.4 ด้านล่างติดตั้งเซอโว จำนวน 4 ตัว ควบคุมแยกกันอย่างอิสระ เพื่อใช้ในการทิ้งระเบิด
1.5 ติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมสัญญาณ เทเลมิสทรี เรดิโอ เชื่อมต่อสัญญาณกับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ควบคุมการบิน ในระยะปฏิบัติการ 5 กิโลเมตร และบรรทุกน้ำหนักได้ 20 กิโลกรัม


2. การควบคุม สามารถทำได้ 2 ระบบ ได้แก่
2.1 การควบคุมด้วยรีโมทคอลโทรล ร่วมกับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เพื่อควบคุมการบินผ่านหน้าจอและดูภาพจากกล้อง ปรับโหมดการบินได้ 3 โหมด คือ โหมดควบคุมด้วยตัวเอง, โหมดการบินด้วย GPS และ โหมดการบินแบบอัตโนมัติ มีระบบการบินกลับอัตโนมัติเมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมด หรือสัญญาณรีโมทขาดหาย โดยเฉพาะกรณีถูกเครื่องมือตัดสัญญาณจากฝ่ายตรงข้าม โดรนจะบินกลับเองแบบอัตโนมัติ
2.2 การควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรม Mission Planner โดยการติดตั้งอุปกรณ์ รับ-ส่ง ข้อมูล เทเลมิสทรี เรดิโอ ความถี่ 433 MHz กำลังส่ง 500 mW เพื่อเชื่อมต่อโดรนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยการกำหนดแผนการบินด้วยพิกัดทางทหาร (MGRS) และทำการทิ้งระเบิดได้อย่างแม่นยำ จากการทดสอบ ที่ระยะความสูง 1,000 เมตร มีความคลาดเคลื่อน ระยะ 5 เมตร ข้อดีของการควบคุมแบบนี้ จะสามารถป้องกันการโจมตีจากอุปกรณ์ต่อต้านโดรนได้


3. การประยุกต์ใช้
ติดตั้งระเบิดได้พร้อมกันสูงสุด 4 ลูก ทิ้งระเบิดแบบอิสระ โดยใช้ระเบิดแสวงเครื่อง หรือระเบิดจริงจากเครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด 60 มิลลิเมตร และ 81 มิลลิเมตร ใช้งานควบคู่กับโดรนตรวจการณ์ เพื่อตรวจสอบพิกัดเป้าหมาย นำมาระบุตำแหน่งทิ้งระเบิดแล้วเข้าปฏิบัติการทำลายเป้าหมายแบบอัตโนมัติ
จากผลงานนวัตกรรมดังกล่าวของหน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางทหารด้านยุทโธปกรณ์ ของกองทัพบก ประจำปีงบประมาณ 2567 ในการนี้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลดังกล่าว โดยมี ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร เป็นผู้รับมอบรางวัล เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่หน่วยสืบไป
ทั้งนี้ จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือทราบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพบก โดย กองทัพภาคที่ 3 จะมุ่งมั่น ตั้งใจพัฒนานวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อป้องกันชายแดน และรักษาอธิปไตยของชาติ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและยั่งยืนสืบไป

ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าว

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป