14/01/2025

เชียงใหม่-มช. จับมือ ไทยเบฟ เปิด C asean Lanna

S__99180627_0

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จับมือ ไทยเบฟ เปิด C asean Lanna พร้อมลงนามบันทึกความร่วมมือ ตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเครือข่ายทุกภาคส่วนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จับมือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิสิริวัฒนภักดี เปิด C asean Lanna ตอกย้ำการเป็นผู้นำศูนย์กลางความเชื่อมโยงเครือข่ายทุกภาคส่วน เสริมความเข้มแข็งประชาคมอาเซียนให้ยั่งยืน พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือและเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งในด้านธุรกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรม โดยมีศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พร้อมด้วยนายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นำทีมคณะผู้บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ เครือข่ายภาคเอกชน ภาคสังคม และนักศึกษาร่วมพิธีเปิดงานและเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่าง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ณ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของ C asean Lanna เกิดจากความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก้องภู นิมานันท์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ กับนายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนและผลักดันจนสู่การเป็น C asean Lanna ซึ่งจะสามารถสร้างประโยชน์ในวงกว้างระดับอาเซียนต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเปิด C asean Lanna นับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจ ธุรกิจ ศิลปะ และวัฒนธรรม โดยเชื่อมโยงผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม ทั้งยังสอดรับกับแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการส่งเสริมความร่วมมือในระดับสากล เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า SDGs

โดยการจัดตั้ง C asean Lanna แห่งนี้ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และพันธมิตรที่มีเป้าหมายร่วมกันในการสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยแลกเปลี่ยนความรู้ครอบคลุมกิจกรรมใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านความยั่งยืน ด้านการพัฒนากลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้านศิลปะวัฒนธรรม และด้านเทคโนโลยี พร้อมสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งโดยมีคณะบริหารธุรกิจ นำร่องการดำเนินงานและความร่วมมือในการสนับสนุนกิจกรรมของ C asean Lanna”

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า C asean เป็น Platform ที่ บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ ได้จัดตั้งขึ้นกว่า 10 ปี ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิสิริวัฒนภักดี โดยมีวัตถุประสงค์เป็นพื้นที่เชื่อมโยงประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศอาเชียนเข้าด้วยกันเพื่อสร้างการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจอันดี และสร้างความร่วมมือต่าง ๆ สู่การพัฒนาศักยภาพของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมี C asean ที่เกิดขึ้นแล้วจำนวน4 แห่งในกรุงเทพมหานคร และอีกหนึ่งแห่ง ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

ทั้งนี้ ได้เล็งเห็นศักยภาพของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันที่มีส่วนผลักดันให้เกิดพลวัตรในการพัฒนาภูมิภาคล้านนา ปัจจุบันครอบคลุม     อาณาเขตพื้นที่ถึง 5 ประเทศ ทั้งประเทศจีนในแถบมณฑลสิบสองปันนา ประเทศเวียดนามตอนเหนือ ประเทศลาว ประเทศเมียนมา และภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการ ด้านนวัตกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชน รวมถึงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นล้านนา มากว่า 60 ปี จึงจัดตั้ง C asean Lanna ณ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยยังมีแผนจะขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนในอนาคต

สำหรับ C asean Lanna ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารและคณาจารย์จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการร่วมมือกับทีม C asean และเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อร่วมกันจัดตารางกิจกรรมที่จะมีความต่อเนื่องไปตลอดปี ทั้งกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชน

 

โดยนับจากพิธีเปิดและการลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวของตัวแทนจากเครือข่ายต่าง ๆ อย่างหลากหลายกลุ่มคน นับตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างคุณเอก ชัยยงค์ ทีมประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ และวิสาหกิจเพื่อสังคมต่าง ๆ รวมถึงชุมชนผ้าขาวม้า โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพื้นที่ C asean Lannaแห่งนี้จะมีส่วนช่วยสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชุมชน  ต่าง ๆ ในภาคเหนือ และพื้นที่ภูมิภาคล้านนาโดยรวม

นภาพร/เชียงใหม่

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป