22/12/2024

ลำพูน – รองผู้ว่าฯลำพูน เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน งานศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาทางรถไฟ

1089031_0

รองผู้ว่าฯลำพูน เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน งานศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาทางรถไฟ ภายใต้โครงการรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรมเวิร์ล จังหวัดลำพูน นำไปสู่แนวการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน และก่อเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด

 

นายชาตรี ธินนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (กลุ่มใหญ่) งานศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรมแหล่งอุตสาหกรรม โครงการรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรมเวิร์ล จังหวัดลำพูน โดยมีหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานเอกชน ผู้นำชุมชนในพื้นที่ องค์กรอิสระ(NGO) และประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการ เข้าร่วมประชุมฯ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ที่ห้องประชุมแกรนด์ปา 1 โรงแรมแกรนด์ปา แอนท์ รีสอร์ท ลำพูน ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารของโครงการ ประกอบด้วย ความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ของการศึกษา พื้นที่ศึกษา ขอบเขตการศึกษา รูปแบบแนวทางเลือกโครงการ ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้เสีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปใช้ประกอบการศึกษาโครงการให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่มากที่สุด

นายชาตรีฯ กล่าวว่า ระบบขนส่งทางราง เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ยกระดับความสามารถ ทางการแข่งขันทางการค้าและการลงทุนของแต่ละธุรกิจ เพราะระบบโลจิสติกส์ถือเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการ ทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการ ดังนั้น การจัดการด้านโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรพิจารณา การวิเคราะห์และเลือกรูปแบบการขนส่งทางรางให้เหมาะสมกับสินค้า/ความต้องการของธุรกิจ เป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถทำให้ต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์สมเหตุสมผล

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงการมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนและหน่วยงานราชการ และความสำเร็จของโครงการจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าโครงการจะก่อเกิดผลดีในภาพรวม แต่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนบางกลุ่ม

ดังนั้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ จึงมีความสำคัญยิ่งในการสร้างความเข้าใจและส่งเสริมความร่วมมือต่อโครงการ อันจะนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน และก่อเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด..นายชาตรีฯ กล่าวในที่สุด

สำหรับแผนการพัฒนาทางรางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม/แหล่งอุตสาหกรรม มีความพร้อมการในการดำเนินการ ตามแผนงานระยะเร่งด่วนจำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย
1. โครงการทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวสำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) แม่เมาะ ระยะที่ 1 : ช่วงสถานีแม่เมาะ – CY กฟผ. แม่เมาะ จังหวัดลำปาง
2. โครงการทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม WHA ตะวันออก จังหวัดระยอง


3. โครงการทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี
4. โครงการทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรมเวิร์ล จังหวัดลำพูน การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้มอบหมาย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด ดำเนินศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม/แหล่งอุตสาหกรรมต่อไป..

 

กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป