26/11/2024

กาฬสินธุ์ชาวตำบลนาขามเฮกรมชลฯเดินหน้าสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อยแก้ภัยแล้ง

สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 6 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง จังหวัดขอนแก่น กรมชลประทาน จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พร้อมเดินหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย ตำบลนาขาม อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาฬสินธุ์ เขต 6 นายอำเภอ สมาชิกสภาอบจ.กาฬสินธุ์ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนเข้าร่วม

 


วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่ศาลาประชาคมบ้านสุขสมบูรณ์ ม.2 ต.นาขาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 6 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง จ.ขอนแก่น กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย ต.นาขาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
โดยมีนายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 6 นายวีรดนย์ ศิริ นอภ.กุฉินารายณ์ นายพงศ์กรณ์ กำแหง ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 6 นายภูมินทร์ ภูมิเขตร สจ.เขตอำเภอกุฉินารายณ์ นายณรงค์ วัฒนพันธ์ นายช่างชลประทานอาวุโส นายพิศนุ งาดี นายกเทศมนตรีตำบลนาขาม พร้อมด้วยผู้นำชุมชน ประชาชนชาว ต.นาขาม และใกล้เคียงเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง

นายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 6 กล่าวว่า สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง เพื่อจัดหาน้ำ ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพัฒนาอาชีพและการส่งเสริมศิลปาอาชีพของราษฎร
ประกอบกับพื้นที่ ต.นาขาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เป็นที่ราบสูง ประชาชนประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ในช่วงหน้าแล้งเป็นประจำทุกปี เนื่องจากอยู่นอกเขตชลประทาน อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก และไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ทำให้ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ได้ส่งเรื่องร้องเข้ามายังตนในฐานะ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 6 และนายภูมินทร์ ภูมิเขตร ส.จ.อำเภอกุฉินารายณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ติดตามเรื่องโครงการดังกล่าว กระทั่งตนได้นำเรื่องตั้งกระทู้ถามความคืบหน้าในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ลงพื้นที่มาตรวจราชการ และได้เร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง และได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำและใช้สำหรับการอุปโภคเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดการรอคอยของประชาชน
ด้านนายภูมินทร์ ภูมิเขตร สจ.เขตอำเภอกุฉินารายณ์ กล่าวว่า ในฐานะลูกหลานชาวตำบลนาขาม ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาอายุ 9-10 ขวบ ก็ได้ยินเรื่องราวของโครงการ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย มาตลอด จนมาถึงตอนนี้ ที่ได้มีโอกาสได้เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในการติดตามโครงการนี้ และได้ศึกษาที่ไปที่มา ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อพัฒนาลุ่มแม่น้ำยัง

 

นายภูมินทร์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันผ่านมากว่า 39 ปี ตนในฐานะสมาชิกสภา อบจ.กาฬสินธุ์ ก็มีประชาชนในพื้นที่สอบถามความคืบหน้าของโครงการฯ จึงได้นำปัญญาให้ท่าน ส.ส.ประเสริฐ บุญเรือง ได้อภิปรายติดตามในสภาฯ จนทราบว่าติดปัญหาการประชาคมในพื้นที่ และพื้นที่ของกรมป่าไม้ และในวันที่ 2 มีนาคม 2567 ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านเศรษฐา ทวีสิน ขณะนั้น ได้มาลงพื้นที่จุดก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย มีประชาชนนับ 1,000 คน รอตอนรับ คำแรกที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดคือ สิ้นสุดการรอคอย และได้รับเสียงปรบมือจากประชาชนดังกึงก้อง

 

อย่างไรก็ตามหากโครงการนี้แล้วเสร็จประชาชนในพื้นที่ก็จะได้รับประโยชน์ ทั้งการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ การสร้างเสริมอาชีพ และการท่องเที่ยว ที่สำคัญอีกอย่าง คือ ลูกหลานที่ไปทำงานในเมืองหลวงและต่างจังหวัดสามารถกลับมาประกอบอาชีพที่บ้านเกิด สร้างความสุขให้ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา และสร้างรายได้ให้ชาวตำบลนาขาม และ จ.กาฬสินธุ์อีกด้วย
ขณะที่นายณรงค์ วัฒนพันธ์ นายช่างชลประทานอาวุโส กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อยมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ใน ต.นาขามและใกล้เคียง ซึ่งมีปริมาณน้ำต้นทุนที่มั่นคง เป็นการลดความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 7 ล้านลบ.ม. ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 625 เมตร ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 5,000 ไร่ และในฤดูแล้งประมาณ 1,710 ไร่ โดยใช้งบประมาณ 450 ล้านบาท และจะเริ่มดำเนินโครงการได้ประมาณปี 2569

 

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป