13/11/2024

รมว.อุตสาหกรรม เรียกกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ 10 สมาคมเหล็ก ถกเร่งแก้วิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กของไทย

รมว.อุตสาหกรรม เรียกกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ 10 สมาคมเหล็ก ถกเร่งแก้วิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กของไทย

 

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดกระทรวง เชิญแกนนำกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ 10 สมาคมเหล็ก ร่วมหารือปัญหาวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็ก และหาแนวทางแก้ไขเพื่อความอยู่รอดตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในการประชุมที่กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม หารือกับผู้แทนอุตสาหกรรมเหล็กไทย นำโดย นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก คณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. และ 10 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งมีสมาชิกรวม 510 บริษัท จ้างงานโดยตรงกว่า 50,000 อัตรา และจ้างงานทั้งระบบกว่า 3 แสนคน

นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานส.อ.ท. กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญต่อการรักษาและพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมเหล็กเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของระบบอุตสาหกรรม เพราะเหล็กเป็นวัตถุดิบที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย ได้แก่ ก่อสร้าง รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ โดยหลายประเทศต่างก็ปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งชาติของตน แต่ขณะนี้โลกเผชิญวิกฤตกำลังการผลิตเหล็กของโลกล้นเกินความต้องการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีนซึ่งประสบปัญหาเศรษฐกิจและธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ถดถอย ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศของจีนลดลง ในขณะที่ผู้ผลิตเหล็กในจีนยังคงผลิตเหล็กในสัดส่วนสูงมากราวร้อยละ 58 ของการผลิตเหล็กของทั้งโลกรวมกัน จีนจึงมุ่งส่งออกสินค้าเหล็กไปยังภูมิภาคหรือประเทศที่มีช่องโหว่ซึ่งจีนสามารถทุ่มตลาดได้ โดยในช่วง 9 เดือนแรก ประเทศจีนได้ส่งออกสินค้าเหล็กแล้ว 81 ล้านตัน และคาดว่าทั้งปี 2567 จีนจะส่งออกสินค้าเหล็กมากสุดในรอบ 8 ปี ปริมาณสูงถึง 109 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากปีก่อนหน้า โดยสินค้าเหล็กจากจีนที่ส่งมายังประเทศไทยปีนี้มีแนวโน้มปริมาณมากกว่า 5.1 ล้านตัน และครองส่วนแบ่งปริมาณเหล็กนำเข้ามากที่สุดร้อยละ 44 ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กในไทยมีการใช้กำลังการผลิต (Production Capacity Utilization) ถึงขั้นวิกฤตต่ำกว่าร้อยละ 30 แล้วจนหลายโรงงานเหล็กต้องทยอยปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานไป ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ 10 สมาคมเหล็ก จึงขอเสนอ 7 แนวทางบรรเทาวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็ก ดังนี้

มาตรการห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็กเฉพาะประเภทที่มีกำลังการผลิตมากเกินความต้องการใช้ภายในประเทศไทยแล้ว ได้แก่ โรงงานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต และโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน เป็นต้น มาตรการส่งเสริมให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใช้สินค้าเหล็กในประเทศที่ผลิตจากโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนปรับปรุงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon การเร่งกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป มาตรการสงวนเศษเหล็กเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดการซากรถยนต์ เพื่อให้มีการบริหารจัดการและสามารถนำวัสดุต่างๆ มาแปรใช้ใหม่ (Recycle) ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด นโยบายส่งเสริมการใช้สินค้าที่ได้รับการรับรองจากส.อ.ท. ว่าผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand หรือ MiT) ไม่เพียงแค่เฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้น โดยขยายไปยังโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public – Private Partnership หรือ PPP) และโครงการก่อสร้างของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment หรือ BOI) ด้วย

การสนับสนุนให้ใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ โดยเข้มข้นขึ้นตามสถานการณ์และทันท่วงที เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping หรือ AD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention หรือ AC) กับสินค้าเหล็กบางประเภทเท่านั้น โดยไม่มีการใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty หรือ CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard หรือ SG) แต่อย่างใด ในขณะที่ประเทศไทยยังคงถูกจีนส่งสินค้าเหล็กมาทุ่มตลาดปริมาณเฉลี่ยกว่า 4.2 แสนตันต่อเดือน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับทราบข้อเสนอดังกล่าวและยืนยันว่าอุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งในหลายอุตสาหกรรมของประเทศไทยต้องสนับสนุนด้วยมาตรการต่างๆ อย่างทันท่วงที โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กก็ต้องมีการปรับตัวรับการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและประโยชน์ของประเทศชาติด้วย ทั้งนี้หลายข้อเสนอจากกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กก็สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ มาตรการห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็กบางประเภท การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) อาคารโครงสร้างเหล็ก มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเศษเหล็ก รวมถึงการจัดการซากรถยนต์ เป็นต้น โดยจะเร่งรัดผลักดันมาตรการต่างๆ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กยังคงอยู่เป็นพื้นฐานสำคัญในห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศไทย

//////////////////////

ณัฐธภพ พันสาย / จ.ประจวบคีรีขันธ์ 0649646443

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป