05/11/2024

ขอนแก่น-“ธปท. สภอ.”แจง! โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจฯ ยังเป็นแรงส่งสำคัญ

โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 10,000 บาท มีผู้ได้รับสิทธิอยู่ในภาคอีสานมากที่สุด ทำให้เห็นการซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันของเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นกว่าภาคอื่น

 


เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่ ห้องปัญญาวิจิตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) เปิดแถลงข่าวเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 3 ปี 2567 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 3 ปี 2567 ยังมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ไม่แตกต่างจากไตรมาสก่อน ตามกำลังซื้อที่เปราะบาง สะท้อนจากยอดขายยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีการใช้จ่ายภาครัฐช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนกันยายนให้ปรับดีขึ้น

 
โดยการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณส่งผลดีต่อเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่อง อีกทั้งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 10,000 บาท มีผู้ได้รับสิทธิอยู่ในภาคอีสานมากที่สุด ทำให้เห็นการซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันของเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นกว่าภาคอื่น มองไปไตรมาส 4 ปี 2567 เศรษฐกิจอีสานยังคงมีแรงส่งต่อเนื่อง จากการเบิกจ่ายของภาครัฐ และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจฯ ที่ยังเป็นแรงส่งสำคัญ ประกอบกับผลจากการปรับลดดอกเบี้ยจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ และสนับสนุนการดำเนินธุรกิจได้บ้าง ส่งผลดีทันทีต่อลูกหนี้ 3 กลุ่มหลัก

 

ได้แก่ สินเชื่อเกษตร สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อธุรกิจ จึงปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจภาคอีสานปี 2567 จากที่คาดว่าจะทรงตัวเป็นขยายตัวเล็กน้อย และในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวจาก 1)งบประมาณภาครัฐปีงบประมาณ 68 ที่จัดสรรได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน และงบผูกพันจากปีงบประมาณ 67 ที่เบิกจ่ายได้ต่อเนื่อง 2)ผลผลิตเกษตรที่เพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และ 3)มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

 
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยง ที่อาจกระทบประมาณการเศรษฐกิจอีสานปี 2568 เช่น การฟื้นตัวของกำลังซื้อโดยเฉพาะสินค้าคงทนและอสังหาริมทรัพย์ และมาตรการส่งออกข้าวของอินเดียที่จะกระทบราคาข้าวขาวอีสานในฤดูกาลเพาะปลูกหน้า เป็นต้น.

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป